เล่มที่ 38
โรคกระดูกและข้อในเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคของแขนและมือ    

กระดูกสะบักสูงกว่าปกติแต่กำเนิด (Sprengel’s deformity)

การวินิจฉัย

            การตรวจจากภาพรังสีเห็นสะบักอยู่สูงกว่าสะบักข้างที่ปกติ เกิดจากการที่สะบักไม่เคลื่อนลงมาในช่วงพัฒนาการในท้องแม่ ทำให้มองดูเหมือนไหล่ข้างนั้นสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ตามปกติ กางแขนได้น้อยลง


ก) ภาพรังสีแสดงหน้าอกด้านหน้า เห็นสะบักขวาสูงกว่าสะบักซ้าย (ลูกศร)
ข) ภาพซีทีสแกน (CT scan) จากโรงพยาบาลอื่นส่งมาพบว่า สะบักขวาสูงกว่าชัดเจน (ลูกศร) จากโรคสะบักสูงกว่าปกติ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งทำ เพราะสามารถวินิจฉัยได้ด้วยภาพรังสีธรรมดา)

การรักษา

            โดยการให้คำแนะนำ ส่วนใหญ่โรคไม่รบกวนการดำเนินชีวิตมากนัก การผ่าตัดทำน้อยมาก เฉพาะในรายที่กางแขนได้น้อยมาก โดยผ่าตัดจัดให้สะบักเข้าที่ดีขึ้น

นิ้วเกิน (Polydactyly)

การวินิจฉัย

โดยการตรวจร่างกายสามารถพบได้ทุกนิ้ว แต่ส่วนใหญ่มักพบนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วก้อย และพบได้ที่เท้าด้วย

การรักษา

โดยการตัดเอานิ้วส่วนเกินออก


ผู้ป่วยนิ้วเกิน เท้าขวามี ๖ นิ้ว (ลูกศร)

นิ้วติดกัน (Syndactyly)

การวินิจฉัย

            โดยการตรวจร่างกายพบว่านิ้วติดกัน อาจติดกัน ๒ นิ้ว หรือทุกนิ้วก็ได้ แต่ที่พบบ่อยคือ นิ้วติดกันระหว่างนิ้วนางกับนิ้วกลาง เป็นได้ทั้งมือและเท้า


มือซ้ายผู้ป่วย พบโรคนิ้วติดกันระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง (ลูกศร)

การรักษา

การผ่าตัดแยกนิ้วออก

นิ้วล็อกแต่กำเนิด (Congenital trigger finger)

การวินิจฉัย

            โดยการตรวจร่างกาย พบได้ตั้งแต่แรกคลอด หรือบางรายอาจเป็นหลังคลอด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกได้ พบมากที่สุดที่นิ้วหัวแม่มือ ปัจจุบันพบว่า อาจไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด