เล่มที่ 38
โรคกระดูกและข้อในเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคของคอและกระดูกสันหลังในเด็ก

คอเอียงจากกล้ามเนื้อคอตึง (Congenital muscular torticollis)

การวินิจฉัย

            เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อสเตอร์ไนไคลโดมาสตอยด์ (sternicleidomastoid) ที่คอตึงตัว อาจเกิดเป็นเนื้อเยื่อแผลเป็นตั้งแต่เด็กทารก กล้ามเนื้อนี้อยู่ ๒ ข้างของลำคอ ถ้าด้านซ้ายตึง คอจะเอียงลงทางด้านซ้าย หน้าจะหันไปทางขวา เห็นกล้ามเนื้อตึงเป็นลำชัดเจน ควรตรวจแยกโรคกระดูกคอเอียงที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กระดูกคอที่ ๑ และที่ ๒ เคลื่อน ซึ่งการหมุนคอจะติดขัดและหมุนไปมาไม่ได้ โดยที่กล้ามเนื้อไม่ตึง หรือตรวจสายตาที่อาจจะเอียงหรือเหล่ทำให้คอเอียง


เด็กชายคอเอียงจากกล้ามเนื้อที่คอตึง สังเกตเห็นกล้ามเนื้อตึงเป็นลำ (ลูกศร)

การรักษา

            ในเด็กเล็กควรแนะนำการดัด เพื่อให้ศีรษะหันไปด้านตรงข้าม และหันหน้าให้มาด้านเดียวกับด้านที่เป็น เมื่ออายุมากขึ้น เช่น อายุ ๑-๔ ปีขึ้นไป ควรผ่าตัดเอาเอ็นคอที่ตึงออก

กระดูกสันหลังคดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic scoliosis)        

การวินิจฉัย

            โดยการตรวจร่างกาย พบว่าเมื่อก้มจะเห็นหลังนูนไม่เท่ากัน และด้วยการใช้ภาพรังสีแผ่นยาวของกระดูกสันหลังทั้งหมดด้านหน้า ซึ่งโดยปกติการจะเรียกว่ามีกระดูกสันหลังคดนั้นต้องวัดจากมุมที่กระดูกสันหลังที่เรียกว่า มุมคอบบ์ (Cobb angle) จะได้มากกว่า ๑๐ องศา เป็นโรคกระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยที่สุด แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑) เกิดในช่วง ๓ ปีแรก
๒) เกิดในช่วง ๓-๑๐ ปี
๓) เกิดในช่วงหลังอายุ ๑๐-๒๐ ปี (adolescent idiopathic scoliosis) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย


ก) ผู้ป่วยหลังคดได้รับการใส่อุปกรณ์พยุงหลัง (brace) กรณีเป็นน้อย
ข) ภาพรังสีแสดงหลังคด (ลูกศร) เส้นตรง ๒ เส้น แสดงมุมคอบบ์ (Cobb angle) วัดมุมได้ประมาณ ๖๐ องศา
เมื่อมุมมากกว่า ๔๐ องศา การทำงานของปอดจะลดลง
ค) คนไข้ได้รับการผ่าตัดใส่โลหะดามหลัง ภาพรังสีแสดงหลังผ่าตัดได้ผลดี
การรักษา

แบ่งได้เป็น ๒ วิธี คือ  

            ๑. อนุรักษนิยม คือ การรักษาโดยวิธีไม่ต้องผ่าตัด โดยมากจะใช้วิธีนี้ในกรณีที่คดไม่มากและผู้ป่วยยังเด็กอยู่ วิธีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือ การใส่อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลัง (brace หรือ spinal orthosis) ส่วนวิธีอื่นๆ เช่น การจัดกระดูก การออกกำลังกาย กายบริหารท่าต่างๆ การใช้กระแสไฟฟ้าหรือเครื่องมืออื่นๆ กระตุ้นกล้ามเนื้อ ส่วนการนวดยังไม่มีการศึกษาใดที่บ่งบอกว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาความผิดรูปของกระดูกสันหลัง                     

            ๒. การรักษาโดยการผ่าตัด มักทำการผ่าตัดในกรณีที่กระดูกสันหลังคดมาก ซึ่งโดยทั่วไปจะมากกว่า ๔๐-๔๕ องศา การผ่าตัดสามารถผ่าได้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ปัจจุบันมักผ่าตัดโดยการใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกแก้ไขทางด้านหลัง

กระดูกสันหลังค่อม (Kyphosis)

การวินิจฉัย

            การซักประวัติ ตรวจร่างกายและภาพรังสีแยกโรค พบว่า เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากบุคลิกท่าทางการยืนการนั่ง จากกระดูกสันหลังผิดรูปแต่กำเนิด จากโรคของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคโปลิโอ โรคสมองพิการ โรคกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ โรคกระดูกนิ่ม (osteogenisis imperfecta) โรคกระดูกติดเชื้อ ได้แก่ วัณโรคกระดูกสันหลัง โรคเนื้องอกในกระดูก โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และโรคชอยเออร์มันน์ (Scheuermann’s disease)

การรักษา

            การรักษาแบ่งออกเป็นวิธีไม่ผ่าตัด และผ่าตัดตามสาเหตุที่วิเคราะห์ได้ บางสาเหตุเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น จากโรคสมองพิการ โรคกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ โรคกระดูกนิ่ม บางสาเหตุสามารถรักษาให้หายได้ เช่น โรคกระดูกติดเชื้อ