การติดเชื้อของกระดูกและข้อ
การติดเชื้อของกระดูก (osteomyelitis) และข้ออักเสบติดเชื้อ (septic arthritis) เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อสแตฟีย์โลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) เชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเชื้อโรค ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระดูกสามารถแพร่มาได้หลายทาง เช่น ทางกระแสเลือด โดยมาจากปาก หู คอ จมูก ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ผิวหนังที่มีการติดเชื้ออยู่แล้ว หรือติดเชื้อจากบาดแผลเปิดภายนอก และจากกระดูกหักแผลเปิดภายนอกโดยตรง เช่น หกล้มกระดูกขาหักแผลเปิดลึกถึงตำแหน่งรอยหัก รวมทั้งจากกระดูกข้างเคียงที่ติดเชื้อแพร่มาโดยตรง
ก) ผู้ป่วยเด็กชายอายุ ๗ ปี มีหนองออกจากแข้งซ้าย ๓ เดือนก่อนมาโรงพยาบาล
ข) ภาพรังสีแสดงกระดูกแข้งซ้ายมีการติดเชื้อของกระดูกแข้งทั้งหมดชนิดเรื้อรัง (ลูกศรสีดำ)
ค) ผู้ป่วยเด็กชายอายุ ๓ ปี ปวดข้อสะโพกซ้าย มีไข้สูงจากโรคข้ออักเสบติดเชื้อ ภาพรังสีพบสะโพกซ้ายหลุดออกจากเบ้าซ้าย (ลูกศรสีขาว) เกิดจากหนอง
การติดเชื้อของกระดูก
การวินิจฉัย
การพบเชื้อเป็นการวินิจฉัยที่ดีที่สุด แต่ส่วนใหญ่ไม่พบเชื้อโรค ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้สูง เจ็บกระดูกส่วนเมแทไฟซิส (metaphysis) โดยเฉพาะในกลุ่มกระดูกอักเสบติดเชื้อทางเลือดแบบเฉียบพลัน (acute hemotogenous osteomyelitis) กลุ่มนี้หากดูภาพรังสีจะปกติ ถ้ากระดูกมีการสร้างกระดูกใหม่ที่เรียกว่า อินโวลูครัม (involucrum) จะจัดเป็นกลุ่มเรื้อรัง (chronic osteomyelitis) ซึ่งกลุ่มนี้พบมีการตายของกระดูกที่เรียกว่า ซีเควสตรัม (sequestrum) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า กระดูกอักเสบติดเชื้อทางเลือดต่ำกว่าเฉียบพลัน (subacute haemotogenous osteomyelitis) อาการจะน้อยกว่า และเมื่อวินิจฉัยด้วยภาพรังสีพบว่า เกิดโพรงหนองที่กระดูก
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ อัตราเม็ดเลือดแดงนอนก้น (ESR) เพิ่มขึ้นผิดปกติ ยกเว้นในทารกจะไม่พบสิ่งเหล่านี้ การตรวจโปรตีนของเลือด (CRP) สูง จึงทำการส่งตรวจเลือดเพื่อเพาะเชื้อ หาเชื้อโรค บางรายอาจเจาะพบหนองจากข้อหรือกระดูก ก็สามารถส่งตรวจหนองเพื่อหาเชื้อโรคได้
การรักษา
การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (antibiotics) ทางหลอดเลือดดำและตามด้วยยาฆ่าเชื้อโรคแบบรับประทานได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้าการดำเนินโรครุนแรงและเร็ว ให้ยาแล้วแต่ไม่ได้ผลใน ๑ วัน หรือเจาะพบหนอง การรักษาจำเป็นต้องทำการผ่าตัด เปิดให้หนองระบายออกจากกระดูก ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อโรคทางหลอดเลือดดำ และตามด้วยยาฆ่าเชื้อโรคแบบรับประทาน
ข้ออักเสบติดเชื้อ
การวินิจฉัย
จากการซักประวัติ และตรวจร่างกาย การเจาะข้อเพื่อตรวจหาหนองเป็นสิ่งจำเป็นมาก การส่งย้อมเชื้อ เพาะเชื้อ อาจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ ๕๐
การรักษา
ต้องทำการผ่าตัดระบายหนองออกมาจากข้อ ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อโรคทางหลอดเลือดดำ การเข้าเฝือกเพื่อพักข้อที่อักเสบ และการรักษาในภายหลังถ้ามีปัญหาเพิ่มเติม