เล่มที่ 37
พระเจดีย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เจดีย์แบบล้านนา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-ปัจจุบัน)

            เมื่อพระเจ้ามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยได้ไม่นาน ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เสด็จมาสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของแคว้นล้านนา แม้ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบเจดีย์มาจากเจดีย์แบบหริภุญชัย แต่รูปแบบเจดีย์บางองค์ของสมัยราชธานีล้านนาก็อาจเชื่อมโยงกับเจดีย์แปดเหลี่ยมในศิลปะหริภุญชัยได้ โดยเฉพาะการทำทรงระฆังที่ตั้งต่อด้วยยอดทรงกรวย เจดีย์แบบนี้เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาทยอด เจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มียอดกลางใหญ่เป็นประธาน และมียอดเล็กประกอบอีก ๔ ยอด จึงอาจเรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด ได้แก่ เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในตำนานการสร้างวัดนี้ระบุว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนภู ราว พ.ศ. ๑๘๗๑ ที่มาของเจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเจดีย์ในศิลปะพม่าสมัยเมืองพุกาม คือ รูปแบบของซุ้มอันมีแท่งตั้งประดับเรียงรายอยู่ที่กรอบซุ้ม ไทยเรียกว่า ซุ้มฝักเพกา แต่พม่าเรียกชื่อเฉพาะว่า ซุ้มเคล็ก (clec)

            เจดีย์แบบล้านนาอีกองค์ คือ เจดีย์เชียงยืน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดเช่นกัน แต่ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย จึงเกิดประเด็นถกเถียงว่าน่าจะมีอายุก่อนหรือหลังเจดีย์วัดป่าสัก เพราะโดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นแนวโน้มทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของเจดีย์ จึงพิจารณากำหนดอายุเจดีย์เชียงยืน ซึ่งมีฐานเตี้ยว่า สร้างก่อนหรือหลังเจดีย์วัดป่าสักเล็กน้อย ส่วนยอดที่เป็นรูปแบบทรงกรวย อาจเป็นรูปแบบดั้งเดิม โดยแผ่นโลหะ (ทองจังโก) ที่ยังหลงเหลืออยู่อาจหุ้ม เพื่อลงรักและปิดทอง ทรงระฆังมีลวดลายปูนปั้นคาดประดับโดยรอบ เรียกว่า รัดอก จึงสันนิษฐานได้ว่าเจดีย์เชียงยืนอาจเป็นศิลปะหริภุญชัย หรือศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙


เจดีย์เชียงยืน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน
            เจดีย์ทรงระฆังที่เป็นรูปแบบเฉพาะของล้านนา คือ เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ทรงสูงเพรียว และเหตุที่เรียกกันว่า "เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา" เพราะมีรูปแบบที่เด่นชัดมากตามแบบศิลปะล้านนา ลักษณะสำคัญคือ ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม (หรือเรียกว่า ฐานยกเก็จ) ต่อขึ้นไปเป็นฐานในผังกลมซ้อนลดหลั่นกันจำนวน ๓ ฐาน ชุดฐานดังกล่าวรองรับทรงระฆัง ซึ่งมีทรงกรวยเป็นส่วนยอด ในบางตำนานระบุสมัยที่สร้างพระธาตุเจดีย์องค์นี้ว่ามีความเก่าแก่มาก โดยผ่านการบูรณะเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ แต่จากการศึกษาพัฒนาการด้านรูปแบบของเจดีย์ สรุปได้ว่า เจดีย์ทรงนี้คงเป็นรูปแบบเฉพาะในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔-๒๐๓๐) แห่งอาณาจักรล้านนา


พระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน

            ในราชธานีเชียงใหม่ การสร้างเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมประเภทปราสาทยอดที่วัดสะดือเมืองซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง ยังไม่ปรากฏประวัติที่แน่ชัด แต่อาศัยลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวสันนิษฐานกำหนดอายุ ซึ่งลวดลายประดับดังกล่าวนั้น มีลักษณะและกรรมวิธีปั้นประดับที่แตกต่างกันไม่น้อยกว่า ๒ แห่ง แสดงว่าต่างยุคสมัยกัน สันนิษฐานได้จากงานช่าง ซึ่งฝีมือช่างที่สร้างคงประมาณแรกเริ่มราชธานีเชียงใหม่ ราว พ.ศ. ๑๘๕๐ และจาก งานซ่อม ที่มีการซ่อมแซมหลายครั้ง ในระยะเวลาต่อมา การซ้อนชั้นของหลังคาเหนือเรือนธาตุสื่อความหมายของปราสาทที่เป็นเรือนชั้น ส่วนทรงกรวยซึ่งประกอบด้วย ทรงระฆัง ปล้องไฉน และปลี นั้น สื่อความหมายของ "ทรงปราสาทยอด"


เจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่

            ในหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงงานสร้าง เจดีย์หลวง ในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมา (พ.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๔๔) ต่อมา ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔-๒๐๓๐) โปรดให้ก่อหุ้มพระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ให้สูงใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก และแปลงยอดให้มีระเบียบ กระพุ่มยอดเป็นอันเดียว แสดงว่า รูปแบบเดิมของเจดีย์องค์นี้คงเคยเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดมาก่อน ปัจจุบันยอดของเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงใหม่องค์นี้ได้ทลายลงแล้ว เมื่อได้พิจารณาจากเค้าเดิมของหลังคาที่ลาดซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แสดงว่าเคยรองรับทรงระฆัง (ทรงระฆังดังกล่าวได้ทลายลง จนเหลือแต่ส่วนปากระฆังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ซึ่งโดยแบบแผนแล้ว เหนือทรงระฆังต้องต่อยอดด้วยทรงกรวย ของเจดีย์ทรงปราสาทยอด  


เจดีย์เจ็ดยอด วัดมหาโพธาราม
อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่

            เจดีย์แบบพิเศษอีกองค์หนึ่งที่มียอด ๗ ยอด บางครั้งจึงเรียกกันว่า "วิหาร" เพราะมีห้องคูหาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาจผนวกเรียกว่า เจติยวิหาร แต่ที่เรียกกันจนเคยชินคือ เจดีย์เจ็ดยอด หรือ วิหารเจ็ดยอด ของวัดมหาโพธาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อวัดนี้เรียกอย่างสามัญว่า วัดเจ็ดยอด หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๙ ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. ๒๐๒๐ ในระหว่างรัชกาลพระเจ้าติโลกราช อาจพิจารณาได้ว่าอยู่ในวาระที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๐๐๐ ปี เค้าโครงของศาสนาคารแห่งนี้มีต้นแบบดั้งเดิมอยู่ในศิลปะอินเดียโบราณ ซึ่งคงได้รับอิทธิพลผ่านมาทางศิลปะพม่าสมัยเมืองพุกาม ภาพปูนปั้นเหล่าเทพยดาประดับผนังเจติยวิหารแห่งนี้ มีความหมายสอดคล้องกับพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ที่กล่าวถึงเหล่าเทพยดาจากหมื่นจักรวาล พากันมาชื่นชมยินดีท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ที่โปรยปรายมาไม่ขาดสาย ช่างได้ปั้นประดับรูปดอกไม้เหล่านั้นเป็นพื้นหลังของภาพเทพยดาด้วย
อนึ่ง งานสร้างวัดในครั้งนั้นได้โปรดให้สร้างสัตตมหาสถานด้วย ซึ่งหมายถึง สถานที่ ๗ แห่งที่พระพุทธองค์ประทับใน ๗ สัปดาห์ หลังการตรัสรู้