เจดีย์แบบหริภุญชัย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘)
ศิลปะหริภุญชัย (บ้างก็สะกดว่า หริภุญไชย) มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) งานช่างของเมืองนี้ เกี่ยวข้องกับงานช่างที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนของราชธานีพุกาม ประเทศพม่า
เจดีย์ กู่กุด วัดจามเทวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน
รูปแบบเจดีย์แบบหริภุญชัยที่รู้จักกันดี คือ เจดีย์กู่กุด ที่วัดจามเทวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน ชื่อ "กู่กุด" มีที่มาจากยอดเจดีย์ที่หักไป องค์เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปในท่าประทับยืน ประดิษฐานอยู่ในแต่ละซุ้มจระนำที่เรียงรายอยู่โดยรอบ รวมจำนวนพระพุทธรูป ๖๐ องค์ ส่วนยอดทรงกรวยเหลี่ยมที่เหลืออยู่เพียงส่วนโคนมีลักษณะเป็นปล้อง เทียบได้กับปล้องไฉนของเจดีย์ทรงระฆัง ตอนบนของทรงกรวยเหลี่ยมหักหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อกู่กุด ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของรูปแบบเจดีย์องค์นี้ ยังไม่มีข้อยุติ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับลักษณะของโลหะปราสาทในศิลปะลังกา สมัยเมืองโปลนนารุวะ แต่บางคนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเจดีย์บางแบบของพม่าสมัยเมืองพุกาม
เจดีย์แปดเหลี่ยม วัดจามเทวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน
ภายในวัดกู่กุดยังมีเจดีย์อีกองค์หนึ่งขนาดเล็กกว่า คือ เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่มีฐานแปดเหลี่ยม เหนือขึ้นไปคือ เรือนธาตุแปดเหลี่ยมเช่นกัน และประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มจระนำของทุกเหลี่ยม ส่วนบนเหลืออยู่เพียงทรงระฆัง โดยที่ยอดทรงกรวยได้หักหายไปแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปภายในซุ้มจระนำทั้งแปดของเจดีย์องค์เล็กนี้ ต่างมีรูปลักษณะแบบเดียวกับพระพุทธรูปในจระนำของเจดีย์กู่กุด ดังนั้น จึงมีส่วนช่วยให้พิจารณากำหนดอายุเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์นี้ได้ว่า เป็นงานช่างร่วมสมัยกัน
เจดีย์เก่าแก่ของสมัยหริภุญชัยเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่องค์ อาจเพราะบ้านเมืองไม่เคยรกร้าง มีการบูรณะเปลี่ยนแปลงเจดีย์มาโดยตลอด จึงเหลือเจดีย์เก่าแก่สมัยหริภุญชัยไม่กี่องค์ดังที่กล่าวมา