เล่มที่ 37
พระเจดีย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เจดีย์แบบทวารวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖)

            เจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลาง แม้ตัวอย่างจะหลงเหลืออยู่น้อย แต่ก็ให้ความรู้ความเข้าใจได้ดีพอสมควร เช่น เจดีย์ศิลา เป็นศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ พบที่จังหวัดนครปฐม ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีต้นเค้ามาจากเจดีย์ในศิลปะอินเดียซึ่งยังปรากฏหลักฐานชัดเจนที่ส่วนยอด ที่เรียกว่า ฉัตรวัลลี ซึ่งก็คือ ใบฉัตรที่ซ้อนลดหลั่นกันในทรงกรวยสูง สำหรับ ปล้องไฉน อันเป็นส่วนยอดทรงกรวย ของเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งมีที่มาจากฉัตรวัลลี ได้มีการเปลี่ยนวงฉัตร หรือใบฉัตร เมื่อก่อสร้างเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ก็ได้ก่อส่วนนี้เป็นทรงกรวยขนาดใหญ่ แล้วพอกปั้นปูนเป็นปล้องคล้ายวงแหวนซ้อนลดหลั่นกันแทนวงฉัตร อันเป็นพัฒนาการที่ผ่านการคิดค้นเพื่อให้ส่วนนี้มีความแข็งแรง ซึ่งมีผลดีคือ ได้รูปแบบใหม่ที่ยังส่อเค้าเดิม ให้ระลึกถึงความหมายเดิมได้ด้วย ตอนบนสุดคือ ดุมฉัตร ซึ่งภายหลังพัฒนา โดยยืดเป็นทรงกรวยเรียบ ที่เรียกว่า ปลี

เจดีย์ศิลา พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

            เจดีย์แบบทวารวดี นอกเหนือจากที่มีอยู่หลายแห่งในภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ในภาคอีสานก็มีปรากฏ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์