เล่มที่ 37
พระเจดีย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เจดีย์แบบสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐)

            เจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ราชธานีทางภาคกลางตอนบนราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๒๐๐๐ แสดงถึงศักยภาพของช่าง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายแหล่ง แล้วนำมาปรับแปลงจนเป็นเจดีย์แบบใหม่ซึ่งไม่มีที่ใดเหมือน เช่น เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เป็นเจดีย์ประธาน มียอดเป็นทรงดอกบัวตูม วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นแบบอย่างเจดีย์ สัญลักษณ์ของราชธานีสุโขทัยที่เกิดจากการผสมผสานส่วนประกอบจากแหล่งบันดาลใจหลากหลาย เช่น ช่างสุโขทัยนำลักษณะบางประการมาจากปราสาทแบบขอม และบางลักษณะของเจดีย์แบบพม่าสมัยเมืองพุกาม นำมาปรับปรุงอย่างเหมาะสมพอดี จึงได้เป็นเจดีย์แบบใหม่ โดยที่นักวิชาการแทบไม่ต้องนึกถึงที่มาอันเป็นแรงบันดาลใจ แต่วิเคราะห์ได้ว่ามีส่วนจากลักษณะของปราสาทแบบขอม และผสมผสานกับลักษณะบางประการของเจดีย์ในศิลปะล้านนา หรือเจดีย์ในศิลปะพุกามด้วย


เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม วัดเจดีย์เจ็ดแถว
อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

            เจดีย์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทแบบขอมโดยตรงที่มีให้เห็น เช่น เจดีย์ทรงปราสาทประเภทเรือนชั้น หมายถึง ชั้นลดหลั่นเหนือเรือนธาตุ ชุดชั้นที่ลดหลั่นกันนี้เป็นชั้นสมมติโดยจำลองมาจากเรือนธาตุ ได้แก่ เจดีย์ประจำทิศตะวันออก ของพระศรีมหาธาตุ วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย รูปแบบของเจดีย์ประจำทิศองค์นี้ปรับปรุงจากทรงปราสาทแบบขอม อันเป็นทรงปราสาทประเภทเรือนชั้น ทั้งนี้ แบบอย่างของการผสมผสานลักษณะจากศิลปะขอม คือ เรือนชั้น ผนวกกับศิลปะล้านนา คือ เรือนยอด จึงอนุโลมเรียกเจดีย์แบบผสมผสานในศิลปะสุโขทัยรูปแบบนี้ว่า เจดีย์ทรงปราสาทยอด เจดีย์ทรงปราสาทยอดในศิลปะสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับล้านนาโดยตรง เช่น เจดีย์รายทรงปราสาทยอด ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทยอดเหล่านี้พิจารณาได้ว่า ส่วนล่างคือฐาน เหนือขึ้นไปเป็นส่วนกลางคือเรือนธาตุ ชั้นซ้อนที่อยู่เหนือขึ้นไปได้แบบอย่างจากปราสาทขอมมาปรับปรุง และเหนือชั้นซ้อนขึ้นไปเป็นทรงกรวย ที่ล้วนชำรุด ยอดหักหายไปมากบ้างน้อยบ้าง แต่โดยรวมแล้วพิจารณาได้ว่าเคยมีส่วนประกอบหลัก คือ ทรงระฆัง และต่อยอดทรงกรวยขนาดเล็ก อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงปราสาทยอด ซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะล้านนามาก่อน  


เจดีย์รายทรงปราสาทยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

            อนึ่ง ช่างสุโขทัยได้ปรับปรุงลักษณะของเจดีย์ทรงปราสาทยอดจากศิลปะล้านนานำมาไว้ในศิลปะของตน และผสมผสานรสนิยมของศิลปะสุโขทัยไว้บ้าง โดยแบบอย่างอันเป็นลักษณะในศิลปะล้านนา ได้แก่ ความเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ที่มียอด ๕ ยอด ซึ่งประกอบด้วย ยอดขนาดใหญ่เป็นยอดประธาน และยอดบริวารขนาดเล็กกว่าโดยตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุชั้นซ้อน และสิ่งที่สำคัญ คือ ซุ้มฝักเพกา ที่หมายถึง ซุ้มที่ประดับแถวแท่งตั้งเป็นครีบที่ขอบซุ้ม ซึ่งเด่นชัดว่าเชื่อมโยงกับศิลปะล้านนา โดยมีต้นแบบคือ ซุ้มเคล็ก (clec) ในศิลปะพม่าสมัยเมืองพุกาม