เจดีย์แบบรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา
เจดีย์สมัยแรกเริ่มของราชธานีกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้สืบทอดแบบอย่างและความนิยมมาจากราชธานีเดิม (โดยผ่านระยะเวลาสั้นๆ ๑๕ ปีของสมัยธนบุรี) คือ การสร้างเจดีย์เพิ่มมุมประเภททรงเครื่อง เช่น เจดีย์ทอง ๒ องค์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เจดีย์ทั้ง ๒ องค์อาจสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยมีการปรับเปลี่ยนลักษณะเพียงเล็กน้อยจากแบบอย่างเดิมที่มีในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยสังเกตได้จาก บัวทรงคลุ่ม ซึ่งรองรับทรงระฆังที่เพิ่มมุมตามแนวที่ขึ้นมาจากชุดฐานสิงห์ ซึ่งทรงระฆังจะอยู่ในทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมเสมอ ต่างจากเจดีย์ทรงเครื่องสมัยอยุธยา ที่บางครั้งทำทรงระฆังในผังกลม และส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา เหนือขึ้นไปเป็นกรวยยาว ที่เรียกว่า ปลี
เจดีย์ทอง ๒ องค์ ด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ เจดีย์ทรงปรางค์ก็ยังได้รับความนิยมสืบทอดต่อมาด้วย เช่น พระอัษฎามหาเจดีย์ เป็นพระปรางค์ ๘ องค์ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่นอกระเบียงคดด้านตะวันออกของพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ สืบทอดรูปแบบจากเจดีย์ทรงปรางค์ในศิลปะอยุธยาตอนปลาย ที่มีรูปทรงเพรียวบาง ส่วนล่างที่เป็นชุดฐานสิงห์ ก็ตกทอดมาด้วยเช่นกัน รวมทั้งเรือนธาตุที่เรียบง่ายยิ่งขึ้น ต่อขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนในทรงแท่ง องค์ปรางค์ทั้งองค์ปิดประดับกระเบื้องสี งานประดับเช่นนี้นิยมทำกันในสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนแบบของเจดีย์ทรงปรางค์ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ได้เข้าสู่ลักษณะใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความหมายอันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเทียบเคียงได้กับคติโบราณปรัมปราว่าด้วยเรื่องพระเจดีย์จุฬามณี ที่พระอินทร์สร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจดีย์ทรงปรางค์แบบใหม่นี้ ได้แก่ ปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีฐานซ้อนลดหลั่นกันเป็นชุด ฐานแต่ละชั้นมีงานปั้นประดับรูปพลแบก ชุดฐานที่เพิ่มขึ้นมีความสำคัญคือ ได้เพิ่มความงดงามให้แก่เรือนธาตุและทรงแท่งที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งทรงแท่งที่อยู่เหนือเรือนธาตุ คือลักษณะที่ได้ปรับปรุงมาตลอดจากความเป็นเรือนชั้น ที่มีต้นแบบจากปราสาทในวัฒนธรรมขอม แต่ช่างไทยบางคนเรียกว่า ยอดปรางค์ (แทนการเรียกว่า ส่วนบน หรือชั้นซ้อน) ปรางค์องค์นี้เป็นปรางค์ ๕ ยอด ยอดกลางเป็นยอดประธาน อีก ๔ ยอด มีขนาดเล็กกว่า และมีการประดับตกแต่งที่หลังคาของจระนำ ซึ่งประจำด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการสร้างปรางค์ประธานวัดอรุณราชวรารามฯ ไว้ว่า โปรดเกล้าฯ ให้ก่อหุ้มพระมหาธาตุองค์เดิมซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณะค้างไว้ แต่เดิมนั้นสูงเพียง ๘ วา ได้ก่อหุ้มให้สูงถึง ๓๕ วา
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่แพร่ขยายมา เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ ๔ และสมัยต่อๆ มา ส่งผลมาถึงงานช่างด้วย ดังรูปแบบของการสร้างเจดีย์ ที่ได้ปรับเปลี่ยนโดยนำเอารูปแบบเจดีย์ของราชธานีเก่าก่อนมา อันเป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ เช่น ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ถอดแบบพระมหาธาตุเจดีย์ทรงระฆัง (หรือบางแห่งเรียกว่า เจดีย์ทรงลังกา) ได้แก่ เจดีย์ประธาน วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาสร้างไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ พระศรีรัตนเจดีย์ ส่วนบางลักษณะที่แตกต่างไปจากต้นแบบ ย่อมอธิบายได้ว่า การถอดแบบในครั้งนั้นได้มีการปรับปรุงลักษณะตามความถนัดของช่าง หรือตามที่ช่างเห็นว่าเหมาะสม
พระมหาธาตุนภเมทนีดล บนยอดดอยอินทนนท์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
กระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่ขยายอิทธิพลมาเป็นลำดับหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นที่มาของการเร่งสร้างอาคารสาธารณะ เช่น โรงเรียน สถานที่ราชการ เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ งานสร้างวัดที่ลดน้อยลงทำให้ทิศทางการสืบทอดงานช่างโบราณเปลี่ยนแปลงไป และดำเนินมาจนเป็นแนวใหม่ในปัจจุบัน เช่น งานสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ ๒ องค์ คือ พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองทัพอากาศได้จัดสร้างขึ้น เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ตามลำดับ สถาปนิกผู้ออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ดังกล่าว ได้นำลักษณะต่างๆ ของเจดีย์ในอดีตมาผสมผสานกัน จนเป็นรูปแบบใหม่ตามทัศนคติและความนิยมของสมัยปัจจุบัน