เจดีย์แบบก่อนกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีอยุธยา (ราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๒๓๑๐)
ก่อนราชธานีกรุงศรีอยุธยาราว ๑๐๐ ปี คือ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมืองลพบุรีซึ่งอยู่ในเครือข่ายวัฒนธรรมขอมมาก่อน มีการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์อันเป็นแบบอย่างระยะแรก ต่อมา ได้กลายเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์ทรงปรางค์ ช่วงระยะแรกของกรุงศรีอยุธยาที่สถาปนาเป็นราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๙๓ เช่น เจดีย์ประธานทรงปรางค์ พระศรีรัตนมหาธาตุ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี เจดีย์ประธานทรงปรางค์ที่สำคัญองค์นี้มีลักษณะทางพัฒนาการอันเป็นระยะแรก ต้นแบบ คือ ปราสาทแบบขอม แต่ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุมีรูปทรงที่เพรียวกว่าต้นแบบ ความซับซ้อนของส่วนประกอบทั้งหลายก็ลดลงมากด้วย อย่างไรก็ดี ชั้นซ้อนแบบปราสาทขอมยังชัดเจนใกล้เคียงกับต้นแบบ
เจดีย์ประธานทรงปรางค์ พระศรีรัตนมหาธาตุ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี
เจดีย์ทรงปรางค์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของราชธานีกรุงศรีอยุธยา โดยมีการสร้างเป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งแต่แรกเริ่มราชธานี มาเป็นลำดับ เช่น ปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สร้างขึ้นในรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พ.ศ. ๑๙๖๗ ปรางค์ประธานองค์นี้มีรูปทรงเพรียว พัฒนามาจากเจดีย์ทรงปรางค์ระยะแรก คือ ส่วนบนซึ่งเป็นชั้นซ้อนคลี่คลายเป็นแท่ง ที่ดูเรียบง่ายกว่าเดิม การทำตรีมุขยื่นออกทางด้านตะวันออก รวมทั้งส่วนฐานที่เพิ่มความสูงยิ่งกว่าต้นแบบ ปรางค์ประธานของวัดนี้ ยังอยู่ในสภาพที่ดีกว่าปรางค์ประธานของวัดอื่นที่สร้างขึ้นก่อน
เจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
เจดีย์ทรงปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยายังมีให้เห็นที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อันเป็นเมืองเก่าแก่สมัยสุโขทัย คือ เจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งสร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๐๑๘ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รูปแบบโดยรวมเทียบได้กับปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะ ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ คือ รูปทรงเพรียวสูงที่สอบเรียวโดยลำดับจากชุดฐานที่กว้าง ผ่านเรือนธาตุขึ้นไป เป็นชั้นซ้อนทรงแท่งสอบมนที่ปลาย โดยต่อเนื่องเป็นนภศูล เจดีย์ทรงปรางค์เป็นเสมือนหลักฐานอันแสดงถึงอำนาจ ของกรุงศรีอยุธยาที่มีเหนือดินแดนสุโขทัย รูปทรงสัดส่วนของปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง นอกจากเป็นแบบอย่าง ของศิลปะอยุธยาในช่วงเวลานั้นแล้ว ผลการศึกษาความหมายและรูปแบบงานปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติที่ประดับหน้าบันซุ้ม ของเรือนธาตุ ก็บ่งชี้ว่าปั้นขึ้นในคราวเดียวกับงานสร้างปรางค์ด้วย
เจดีย์ประธาน ๓ องค์
วัดพระศรีสรรเพชญ
ในราชธานีกรุงศรีอยุธยา นอกจากเจดีย์ ทรงปรางค์แล้วยังมีเจดีย์รูปทรงอื่น คือ เจดีย์ทรงระฆังที่มีขนาดใหญ่เด่นชัด ได้แก่ เจดีย์ประธาน ๓ องค์ ที่วัดพระศรีสรรเพชญ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๓๕ เจดีย์ประธานทรงระฆังในศิลปะอยุธยา มีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ใต้ทรงระฆัง คือ มีเส้นนูนคล้ายหวายผ่าซีกคาดอยู่โดยรอบ จำนวน ๓ เส้น โดยซ้อนลดหลั่นกัน เรียกว่า มาลัยเถา และเหนือขึ้นไปก่อนถึงทรงระฆัง เป็นบัวปากระฆัง เจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัยก็มีบัวปากระฆังเช่นกัน แต่ไม่ได้ทำมาลัยเถา ทำเป็นชุดบัวถลาแทน
เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมยกเก็จซึ่งทำให้มีจำนวนมุมเพิ่มขึ้น จึงมักเรียกกันว่า เจดีย์เพิ่มมุม แทนชื่อเดิมที่เคยเรียกกันว่า "เจดีย์ย่อมุม" ตัวอย่างเจดีย์ลักษณะดังกล่าว เช่น เจดีย์ศรีสุริโยทัย ศิลปะอยุธยา สร้างขึ้นราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (หลัง พ.ศ. ๒๐๙๑) อยู่ในวัดร้างชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมของเจดีย์องค์นี้ เป็นลำดับจากส่วนฐานขึ้นไปเรือนธาตุ และทรงระฆัง ส่วนยอดเป็นทรงกรวยกลม เจดีย์ยอดเหนือหลังคาของจัตุรมุข (มุขประจำ ๔ ด้านของเจดีย์) มีมาก่อนแล้ว คือ เจดีย์ทรงระฆัง ๓ องค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดพระศรีสรรเพชญ ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ปรับปรุง และใช้เป็นบริเวณของสำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เจดีย์เพิ่มมุมองค์นี้ คงเป็นแบบอย่างระยะแรก เชื่อว่าเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือ หลัง พ.ศ. ๒๐๙๑ อันเป็นปีที่สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์กลางศึกพม่า
แบบอย่างของเจดีย์เพิ่มมุมได้คลี่คลายไป อีกระดับหนึ่งในเวลาต่อมา เช่น เจดีย์ประธาน วัดภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่น แต่ละฐานยกเก็จและเอนสอบยื่นออกมาเต็มฐาน ซึ่งแตกต่างจากฐานของเจดีย์ในศิลปะอยุธยาทั่วไป ดังนั้น ฐานของเจดีย์ประธาน วัดภูเขาทอง จึงเป็นแบบพิเศษ ทำนองเดียวกับฐานเจดีย์แบบมอญ-พม่า ขณะที่เหนือจากชุดฐานดังกล่าวขึ้นไป เป็นเจดีย์เพิ่มมุม คล้ายแบบอย่างของเจดีย์ศรีสุริโยทัย แต่เชื่อว่ามีการปรับรูปแบบด้วย คือ การใช้ฐานเจดีย์ตามแบบอย่าง มอญ-พม่า ปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ฐานเจดีย์แบบนี้ ได้ผ่านพัฒนาการ ในศิลปะอยุธยามาก่อน จึงอาจเชื่อได้ว่า เจดีย์ประธานองค์นี้ สร้างขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากที่ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ หรือหลังจากนั้น คือ คราวที่ทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ของพม่า ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า เป็นที่มาของการสร้างฐานเจดีย์แบบมอญ-พม่า รองรับเจดีย์ทรงไทย ซึ่งเจดีย์แบบพิเศษนี้ มีอยู่เพียงองค์เดียวในกรุงศรีอยุธยา