เจดีย์แบบศรีวิชัย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘)
งานช่างในภาคใต้ของประเทศไทยเรียกชื่อว่า ศิลปะศรีวิชัย โดยนำมาจากชื่อเมืองสำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก เจดีย์แบบศรีวิชัยมีลักษณะเชื่อมโยงกับรูปแบบของ จันทิ (chandi) ซึ่งเป็นศาสนสถานของชวาในภาคกลางประเทศอินโดนีเซีย
พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เจดีย์แบบศรีวิชัยองค์สำคัญที่รู้จักกันดี ได้แก่ พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ส่วนประดับบางส่วนและส่วนยอดของเจดีย์องค์นี้ถูกสร้างแทนส่วนที่ชำรุดเมื่อคราวบูรณะในรัชกาลที่ ๕ โดยทั่วไปแล้ว เจดีย์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนล่าง คือ ฐาน ส่วนกลาง คือ เรือนธาตุ และส่วนบนที่ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น เรียวสอบขึ้นเป็นยอดแหลม ยอดแหลมนี้เป็นที่มาของชื่อ เจดีย์ทรงปราสาทยอด อย่างไรก็ดี นอกจากเค้าเดิมที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของจันทิในศิลปะชวาแล้ว เจดีย์ศิลปะศรีวิชัยบางแบบซึ่งมีห้องคูหา เช่น เจดีย์ของวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้ผนวกเอาลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะจาม (ศิลปะโบราณในประเทศเวียดนาม) ได้แก่ งานประดับผนังโดยเซาะร่องเป็นแถวในแนวตั้ง ซึ่งมีอยู่ที่ กาลัน (kalan) อันเป็นศาสนาคารทรงปราสาทในศิลปะจามมาก่อน