เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การศึกษาอุบัติเหตุ

            การศึกษาอุบัติเหตุควรศึกษาเช่นเดียวกับโรคทุกชนิดคือ อนุโลม "อุบัติเหตุ" ขึ้นเป็นโรคหนึ่งเพื่อเป็นแนวทางสู่การแก้ไข และหลีกเลี่ยง

            โดยทั่วไป การศึกษาโรคทุกชนิดควรมอง ๓ ด้านด้วยกัน คือ

๑. ผู้ที่เกิดโรค (host)
๒. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค (agent)
๓. สิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การเกิดโรค ( environment)


            อุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับหลัก ๓ ประการ เช่นเดียวกัน คือ
๑. ผู้รับอุบัติเหตุ
๒. สิ่งที่เป็นเหตุ
๓. เวลาและสถานที่เกิดเหตุ


            จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมี ๓ ด้าน ด้วยกัน เช่น บุคคลบางประเภทดูเหมือนว่าได้รับอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป ตัวการบางอย่างทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและบ่อย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมบางอย่างบางเวลาก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นต้น

ระบาดวิทยาของอุบัติเหตุ

            ในประเทศไทย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อัตราตายของประชากรจากอุบัติเหตุ การเป็นพิษ และพลวเหตุ (accidents, poisonings and violence) อยู่ในอันดับที่ ๔ รองลงมาตามลำดับจากโรคไข้จับสั่น โรคท้องร่วง วัณโรคระบบหายใจ และโรคปอดอักเสบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อัตราตายจาก อุบัติเหตุ ยังคงเป็นอันดับที่ ๔ รองลงมาจาก โรคท้องร่วง โรคปอดอักเสบ วัณโรคระบบหายใจ และไข้จับสั่นตามลำดับ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อัตราตายจากอุบัติเหตุ เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ ๓ รองมาจากโรคท้องร่วง และวัณโรคระบบหายใจตามลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา อัตราตายจากอุบัติเหตุ การเป็นพิษ และพลวเหตุกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของ คนไทยทั้งประเทศ สูงกว่าอัตราตายจากโรคอื่นๆ ทุกประเภท สาเหตุมาจากการแพทย์สาธารณสุขเจริญขึ้น ประชาชนเสียชีวิต จากโรคติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน ความก้าวหน้าทางวัตถุ และการเพิ่มของประชากร ทำให้อัตราตายจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นและสูงสุดเป็นอันดับที่ ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน