เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เลือดออกหรือตกเลือด

ร่างกายมีเส้นเลือดอยู่ ๓ ชนิด คือ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ และเส้นเลือดฝอย ฉะนั้นเลือดออกได้ ๓ ทาง คือ

            ๑. เลือดออกจากเส้นเลือดแดง (arterial bleeding) เป็นเลือดที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เลือดมักทะลักออกจากบาดแผลตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ห้ามเลือดได้ยาก ไม่ค่อยหยุด หรือไม่เกิดเป็นลิ่ม เลือดมีสีแดงสด

            ๒. เลือดออกจากเส้นเลือดดำ (venous bleeding) เป็นเลือดที่อวัยวะต่างๆ ของร่ายกาย ให้ออกซิเจนแล้วไหลกลับสู่หัวใจ มักไหลรินๆ จากบาดแผล มีสีแดงคล้ำ

            ๓. เลือดออกจากเส้นเลือดฝอย (capillary bleeding) มักเกิดที่บาดแผลไม่รุนแรง ตื้นๆ เป็นเส้นเลือดที่เชื่อมโยงเป็นตาข่าย ระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ เลือดไหลซึมออกช้าๆ ห้ามเลือดได้ง่าย

การตกเลือด แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

            ๑. การตกเลือดภายนอก ได้แก่ บาดแผลที่เห็นได้ชัด มีเลือดไหลออกมานอกผิวหนัง
            ๒. การตกเลือดภายใน ได้แก่ เลือดออกในอวัยวะหรือช่องว่างต่างๆ ภายในร่างกาย โดยไม่ไหลออกมานอกผิวหนังทำให้สังเกตได้ยาก และเป็นอันตรายได้เสมอ

อาการของการตกเลือด


            เมื่อเลือดไหลออกมานอกเส้นเลือด ทำให้ปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายลดลงความรุนแรงของอาการที่แสดงออกย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่เสียไป อาการมีดังนี้

๑. หน้าซีดลงทุกที สังเกตได้จากริมฝีปาก เล็บ ลิ้น เปลือกตาด้านในผิวหนัง และฝ่ามือซีด
๒. ผู้ป่วยบอกว่ารู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม หูอื้อ ตาลาย
๓. มีอาการช็อค คือ เหงื่อออก ตัวเย็นชื้น
๔. หัวใจเต้นเร็ว จับชีพจรได้เร็วและเบา


วิธีปฐมพยาบาล

๑. ให้ผู้ป่วยนอนราบ เปิดเสื้อผ้าบริเวณที่เลือดออกให้เห็นชัด
๒. ปลอบให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ อย่าได้ตกใจ
๓. คลายเครื่องแต่งกายให้หลวม
๔. ยกส่วนที่เลือดออกให้สูง เช่น ถ้ามีบาดแผลที่แขนหรือขา ก็ให้ยกแขนหรือขาขึ้นสูง ทำให้เลือดไหลช้าลงอาจหยุดได้
๕. ทำการห้ามเลือดด้วยวิธีการที่จะกล่าวต่อไปแล้วแต่ความรุนแรงของบาดแผล ใช้ได้เฉพาะการตกเลือดภายนอก หากเป็นตกเลือดภายใน ให้รักษาอาการช็อคก่อน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดรักษาต่อไป


วิธีห้ามเลือด


            (ก) การกดบาดแผลโดยตรง เป็นวิธีง่าย ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าสะอาดเท่าที่หาได้ พับเป็นผืนสี่เหลี่ยมหลาย ๆ ชั้น กดลงบนบาดแผลโดยตรง กดด้วยแรงสม่ำเสมอ อย่าเปิดผ้าออกมาดูให้บ่อยนัก เพราะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นดีแล้วจะหลุด ทำให้เลือดออกอีก กดจนแผ่นผ้าชุ่มเลือดทั่วกันหมดแล้วจึงเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ หากกดไปประมาณ ๕ นาที ผ้ายังไม่ชุ่มเลือดนักแสดงว่าเลือดไม่ออกแล้ว ให้ใช้ผ้าอีกผืนพับทับบนผ้าที่อยู่เหนือบาดแผลให้แน่นพอสมควร


การห้ามเลือดด้วยวิธีกดบนแผลโดยตรง

            (ข) การกดเส้นเลือดแดงใหญ่เพื่อห้ามเลือด ใช้สำหรับเลือดออกจากเส้นเลือดแดง หรือเส้นเลือดดำที่มีความรุนแรง และใช้วิธีแรกมาแล้วไม่ได้ผล โดยกดลงตรงจุดที่มีเส้นเลือดแดงไหลไปเลี้ยงส่วนที่มีบาดแผล ใช้การคลำชีพจรบนตำแหน่งต่างๆ ของผิวหนัง เพื่อให้เลือดที่ไปเลี้ยงบาดแผลลดลงชั่วขณะ ความรุนแรงจากการเสียเลือดจะน้อยลง

จุดกดใหญ่ๆ ที่สำคัญมี ๗ จุด คือ

            ๑. จุดที่คอ โดยกดที่เส้นเลือดใหญ่ใกล้หลอดลมเพื่อห้ามเลือดที่ศีรษะและใบหน้า ใช้ในกรณีที่บาดเจ็บฉกรรจ์บนใบหน้า ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ควรให้ผู้ป่วยหันหน้าไปด้านตรงข้าม วิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้ ผู้ช่วยเหลือไม่ควรใช้จุดนี้พร่ำเพรื่อหากไม่จำเป็นจริง

            ๒. จุดที่หน้าหู โดยกดลงกับกะโหลกศีรษะ เพื่อห้ามเลือดที่ออกจากหนังศีรษะ

            ๓. จุดใต้คาง ห่างจากมุมกระดูกคางมายังข้างหน้าประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อห้ามเลือดออกจากบริเวณปากและจมูก

            ๔. จุดเหนือกระดูกไหปลาร้า โดยกดลงกับกระดูซี่โครงซี่ที่ ๑ เพื่อห้ามเลือดออกบริเวณแขนข้างนั้น

            ๕. จุดบริเวณต้นแขนด้านชิดกับลำตัว อยู่ประมาณกิ่งหนึ่งระหว่างหัวไหล่กับข้อศอก เพื่อห้ามเลือดออกบริเวณแขนส่วนล่างลงมา

            ๖. จุดสองข้างบริเวณด้านในของข้อมือ เพื่อห้ามเลือดบริเวณมือข้างนั้น

            ๗. จุดบริเวณขา ใช้กดลงไปตรงกึ่งกลางของขาหนีบ เพื่อห้ามเลือดบริเวณขาข้างนั้น


วิธีห้ามเลือดด้วยการกดเส้นเลือดแดง :

ก. เลือดออกจากบริเวณปากและจมูก ใช้นิ้วกดบนเส้นเลือดแดงที่อยู่บนขากรรไกรล่าง

ข. เลือดออกจากบริเวณหนังศีรษะ ใช้นิ้วกดบนเส้นเลือดแดงที่วิ่งผ่านด้านหน้าของใบหู

ค. เลือดออกจากส่วนแขน ใช้นิ้วกดเส้นเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า

ง. เลือดออกจากบริเวณคอและศีรษะ ใช้นิ้วกดที่เส้นเลือดแดงคาโรติดร่วมบริเวณลำคอ

            (ค) การขันชะเนาะ เป็นการห้ามเลือดอีกวิธีหนึ่ง โดยใช้ผ้า เชือก หรือสายยาง รัดไม่ให้เลือดจากเส้นเลือดแดงไหลลงสู่อวัยวะส่วนนั้น เราใช้วิธีนี้ในบาดแผลที่มีเลือดออกอย่างรุนแรงตามแขนและขา ใช้ขันชะเนาะได้เฉพาะท่อนแขนหรือท่อนขาส่วนบนเท่านั้น เพราะกระดูกส่วนนั้นเป็นท่อนเดียว เมื่อรัดเชือกให้แน่นแล้ว เส้นเลือดแดงก็จะแฟบติดกับท่อนกระดูกหากรัดบนกระดูกสองท่อนเรียงกัน โดยมีเส้นเลือดแดงผ่านกลางการรัดไม่ได้ผล เราใช้วิธีขันชะเนาะต่อเมื่อห้ามเลือดด้วยวิธีห้ามเลือดสองวิธีดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ตำแหน่งที่รัด คือ

๑. ท่อนแขนส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากรักแร้ เพื่อห้ามเลือดออกจากมือและแขน
๒. ท่อนขาส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากขาหนีบ เพื่อห้ามเลือดจากขาและเท้า


วิธีขันชะเนาะ

            ๑. ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าอื่นๆ พับเป็นเบาะสี่เหลี่ยมวางบนเส้นเลือดแดงบริเวณแขหรือขา จุดที่คลำชีพจรพบ

            ๒. ใช้ผ้าหรือเชือกพันรอบแขนหรือรอบขาบนเบาะข้างต้นสักสองรอบผูกเงื่อน ๑ ครั้ง และสอดท่อนไม้ แท่งดินสอ หรือไม้บรรทัดไว้ตรงกลางก่อนผูกเงื่อนตายอีกทบหนึ่ง


วิธีขันชะเนาะบริเวณแขน โดยใช้ผ้าขาวม้าและท่อนไม้

            ๓. หมุนท่อนไม้ไปรอบๆ เงื่อนที่ผูกไว้หลายๆ รอบ เป็นการขันชะเนาะ ขันจนเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลหยุดก็พอผูกอีกปลายหนึ่งของท่อนไม้เข้ากับท่อนแขนหรือท่อนขา เพื่อมิให้เกลียวคลาย
            ๔. ควรคลายเกลียวขันชะเนาะทุกๆ ๑๐ นาที โดยให้พักครึ่งถึงหนึ่งนาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงแขนหรือขาส่วนนั้นได้ระหว่างที่คลายเกลียว ถ้าไม่มีเลือดออกจากบาดแผล ให้หยุดการห้ามเลือดได้ แต่ถ้ามีเลือดออกมามาก ให้ใช้ผ้ากดห้ามเลือดบนบาดแผลไว้ชั่วคราว เมื่อครบเวลาจึงขันชะเนาะใหม่ ทำเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าจะถึงโรงพยาบาลหรือพบแพทย์

วิธีขันชะเนาะบริเวณขา โดยใช้ผ้าขาวม้าและท่อนไม้

- ใช้ผ้าพันรอบขา บนผ้าที่ทับอยู่บนเส้นเลือดแดง
- สอดท่อนไม้เข้าระหว่างเงื่อนแล้วหมุน หรือ ขันชะเนาะหลายๆ รอบ
- ผูกอีกปลายข้างหนึ่งของท่อนไม้เข้ากับขา เพื่อมิให้เกลียวคลาย



            ๕. เมื่อส่งแพทย์ควรแจ้งให้ผู้ช่วยเหลือคนต่อไปทราบบริเวณและเวลาที่เริ่มขันชะเนาะไว้ เพราะบางครั้งคลุมผ้าปกปิดไว้จนลืม ทำให้แขนขาส่วนนั้นขาดเลือดจนเน่าได้

เลือดกำเดาออก

            อาจเกิดจากเส้นเลือดฝอยในเยื่อจมูกฉีดขาด โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น บาดแผลเนื่องจากการถูกชกต่อย หกล้ม อุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกดั้งจมูกหักหรือเคลื่อน กะโหลกศีรษะแตก หรือแรงดันเลือดสูง จะทำให้เลือดกำเดาออกมาและหยุดได้ยาก

วิธีปฐมพยาบาล


            หากสงสัยว่ากะโหลกศีรษะแตกหรือสมองบาดเจ็บ หรือผู้ป่วยมีแรงดันเลือดสูง อย่าพยายามห้ามเลือด เพราะไม่ได้ผลแถมยังไปเพิ่มแรงดันในสมอง ทำให้เลือดออกมากขึ้น

            โดยทั่วไปเราให้ผู้ป่วยนั่ง โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือใช้นิ้วชี้กดจมูกข้างที่เลือดออกให้ชิดกับดั้งจมูกเป็นเวลานาน ๑๐ นาทีติดต่อกัน หรือให้ผู้ป่วยกดจมูกเองก็ได้ ระหว่างนั้นอาจประคบความเย็นบริเวณหน้าผากก็ได้ ให้ผู้ป่วยหายใจทางปาก คลายคอเสื้อให้หลวม

            ถ้าใช้วิธีข้างต้นนี้ไม่ได้ผล ให้สอดสำลีหรือผ้าที่ชุบน้ำเย็นพอหมาดๆ เข้าไปในรูจมูกข้างที่มีเลือดออก แล้วกดจมูกให้แน่นจากภายนอกนานประมาณ ๑๐ นาที หากเลือดกำเดาออกจากส่วนลึกของจมูกใช้วิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ควรนำส่งแพทย์โดยเร็ว