เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

หัวใจหยุดเต้น

            ผู้ป่วยที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด จมน้ำ ถูกรัดคอ โรคหัวใจกำเริบ หรือช็อคจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ผู้ช่วยเหลือจะไม่สามารถคลำชีพจรบริเวณต้นคอของผู้ป่วยได้ ให้รีบปฏิบัติการนวดหัวใจโดยเร็ว เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วระยะเวลาประมาณ ๓ นาทีเท่านั้น ก็จะทำให้สมองและเส้นประสาทสูญเสียหน้าที่อย่างถาวร แม้ช่วยชีวิตไว้ได้ ในเวลาต่อมาผู้ป่วยอาจกลายเป็นคนพิการไม่สามารถช่วยตัวเองได้ฉะนั้นผู้ทำการปฐมพยาบาลทุกคนจึงควรเรียนรู้วิธีนวดหัวใจจากภายนอก (external cardiac massage)

วิธีปฏิบัติ

            ๑. วางผู้ป่วยนอนหงายราบบนพื้น หรือที่แข็งๆ คลายเสื้อผ้าให้หลวม

            ๒. ผู้ช่วยเหลือใช้สันมือข้างหนึ่งกดลงบนกระดูกสันอก (sternum) ส่วนล่าง ให้เหนือกระดูกลิ้นปี่เล็กน้อย และใช้มืออีกข้างหนึ่งกดทับลงไป ให้กดกระดูกสันอกยุบลงไปประมาณ ๑ ถึง ๒ นิ้ว ใช้จังหวะ ๖๐ ครั้งต่อนาที (๑ วินาทีต่อครั้ง) ซึ่งใกล้เคียงกับจังหวะการเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่


ท่านวดหัวใจที่ถูกต้อง ผู้ช่วยเหลือควรวางสันมือข้างหนึ่ง ลงบนกึ่งกลางของกระดูกหน้าอก แล้วใช้ฝ่ามืออีกข้างหนึ่ง วางทับลงไป เวลากดให้ออกแรงทั้งสองมือเท่าๆ กัน

            เมื่อกระดูกสันอกถูกกดลง หัวใจจะถูกบีบให้ชิดกระดูกสันหลังซึ่งรองรับอยู่ แรงกดจะบังคับเลือดไหลออกจากช่องหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายตามหลอดเลือด เมื่อปล่อยมือเลือดในระบบไหลเวียนก็จะกลับสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่งจนเต็มทุกช่อง

            ๓. ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก ให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของผู้ช่วยเหลือกดลงที่กึ่งกลางของกระดูกสันอก (ระดับสูงกว่าในผู้ใหญ่) ให้หน้าอกยุบลงไปเพียง ๐.๕ ถึง ๑ นิ้วในเด็กทารก หรือ ๑ ถึง ๑.๕ นิ้วในเด็กเล็ก ในจังหวะการกดเร็วกว่าในผู้ใหญ่ คือประมาณ ๑๐๐ ครั้งต่อนาที เพื่อให้ได้ผลดี ผู้ช่วยเหลืออาจสอดมืออีกข้างหนึ่งหนุนหลังของผู้ป่วยเด็กไว้ขณะนวดหัวใจก็ได้

            ๔. หากผู้ป่วยหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นในขณะเดียวกัน การช่วยเหลือควรทำควบคู่กันไป คือ

            (ก) หากมีผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียว ให้กดกระดูกสันอกเป็นการนวดหัวใจ ๑๕ ครั้ง โดยนับ ๑ ถึง ๑๕ (นวด ๘๐ ครั้งต่อนาที) แล้วรีบหันมาเป่าลมเข้าปากของผู้ป่วย ๒ ครั้ง โดยใช้เวลา ๖ วินาที คือนับ ๑ ถึง ๖ แล้วหันกลับมานวดหัวใจใหม่วนเวียนกันเช่นนี้ต่อไป

            (ข) หากมีผู้ช่วยเหลือ ๒ คน ให้ผู้ป่วยเหลือคนหนึ่งนวดหัวใจ ในอัตรา ๖๐ ครั้งต่อนาที โดยการนับ "หนึ่งพักหนึ่ง" ไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ผายปอดก็จะเป่าลมเข้าปากในอัตราส่วน ๑ ครั้งต่อการนวดหัวใจทุกๆ ๕ ครั้ง โดยเป่าลมเข้าขณะที่ผู้นวดหัวใจคลายมือจากกระดูกสันอกเท่านั้น

            (ค) หากผู้ป่วยเป็นทารกหรือเด็กเล็ก ผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียวอาจเป่าลมเข้าปากไป ขณะเดียวกันใช้นิ้วนวดหัวใจไปด้วย เป็นจังหวะดังที่กล่าวมาแล้ว