อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจร อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรแบ่งออกเป็น ๑. อุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวง ซึ่งเป็นอุบัติเหตุการจราจรที่พบมากที่สุด ๒. อุบัติเหตุรถไฟ ๓. อุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ ๔. อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ ๑. อุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวง อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรทางบก โดยเฉพาะอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานยนต์ เป็นสาเหตุการตายและบาดเจ็บสูงสุด ของสถิติอุบัติเหตุ ที่รุนแรง ทุกประเภท จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขรายงานไว้ว่า อัตราตายจากอุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวงปี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๙ อยู่ในเกณฑ์ระหว่าง ๑๐.๐ ถึง ๑๒.๗ ต่อประชากรแสนคน เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ ๑ ของบรรดาอุบัติเหตุทั้งปวง | |||
| |||
จากสถิติข้อมูลของกองตำรวจทางหลวง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง ๒๕๒๒ ปรากฏว่า อุบัติเหตุยานยนต์ที่เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดินสายต่างๆ ทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงสายต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน ๓,๒๓๘ ครั้ง มีคนตาย ๓,๐๒๐ คน คนบาดเจ็บ ๖,๕๔๒ คน ทรัพย์สินเสียหายประมาณ ๕๓.๒ ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รองลงมา ได้แก่ รถบรรทุก และรถยนต์โดยสาร เหตุเกิดมากเป็นพิเศษในวันหยุดสุดสัปดาห์ สาเหตุที่ประมวลได้ ส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถโดยประมาท เช่น การแซงรถในที่คับขัน ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เลี้ยวตัดหน้ารถอื่นอย่างกระชั้นชิด หรือผู้ขับขี่เมาสุรา ติดยาเสพติด หรือหลับในขณะขับรถ เป็นต้น | |||
| |||
อุบัติเหตุบนทางหลวงนอกเขตเทศบาลมักเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรง มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ส่วนอุบัติเหตุยานยนต์ ในเขตชุมชน ย่อมเกิดขึ้นบ่อยกว่าในทางหลวงหลายเท่า แต่มักไม่รุนแรง มีผู้บาดเจ็บถึงตายไม่มาก ส่วนมากเกิดจากรถนั่งส่วนบุคคลชนคนข้ามถนน รถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ชนกันเอง เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เริ่มใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมการจราจรทางบกที่รัดกุม เคร่งครัดกว่าก่อน คาดหมายกันว่า ต่อนี้ไปแนวโน้มของอุบัติเหตุจราจรทางบกอาจลดน้อยลงก็ได้ ๒. อุบัติเหตุรถไฟ เมื่อเปรียบเทียบกับยานยนต์แล้ว รถไฟให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารมากกว่ารถยนต์ ทั้งนี้เพราะว่า รถไฟมีระบบทางเดินรถที่แน่นอนของตนเอง และมีการดูแลควบคุมที่ทั่วถึง ในปีหนึ่งๆ ยังมีอุบัติเหตุรถไฟตกรางอยู่บ่อยๆ แต่มักไม่ร้ายแรง มีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายจำนวนน้อย เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวน่าสะเทือนขวัญของคนทั่วไป คือ รถไฟ ๒ ขบวน วิ่งชนกัน เกิดการพลิกคว่ำ มีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายคราวละมากๆ สาเหตุสันนิษฐานว่า เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือหลายฝ่าย เช่น พนักงานขับรถ หรือพนักงานสับเปลี่ยนรางรถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท พนักงานขับรถไฟด้วยความเร็วเกินอัตราที่กำหนด หรือฝ่าฝืนสัญญาณความปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบอุบัติเหตุรถไฟทับคนบาดเจ็บแขนขาขาด หรือถึงแก่ความตายเป็นครั้งคราว อันมีสาเหตุมาจาก คนนอนหลับข้างรถไฟ คนหรือยานยนต์ฝ่าสัญญาณวิ่งตัดหน้าขบวนรถไฟ เหตุการณ์เหล่านี้อาจป้องกันได้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ๓. อุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากการขนส่งทางน้ำได้รับความนิยมภายในประเทศน้อยลง ขณะที่บ้านเมืองพัฒนาการขนส่งทางบกให้สะดวกขึ้น อัตราตายจากอุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๙ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อุบัติเหตุทางน้ำที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นรายใหญ่ๆ มักเกิดจากเรือโดยสารล่มในแม่น้ำ หรือทะเล ส่วนมากเป็นเรือทัศนาจรที่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตรา หรือประสบสภาพอากาศแปรปรวน ขาดความระมัดระวังทั้งผู้ขนส่ง และผู้โดยสาร ส่วนอุบัติเหตุจมน้ำมักเกิดขึ้น ประปรายกับผู้ซึ่งมีที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำลำคลอง หรือเดินทางทางเรือเป็นส่วนใหญ่ ๔. อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ เช่น เครื่องบินโดยสารตก มักปรากฏเป็นข่าวใหญ่ ไม่ว่าเกิดขึ้น ณ ที่ใดของโลก เพราะเครื่องบินโดยสารแต่ละลำที่ตก มักมีผู้โดยสารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทย เครื่องบินฝึกบินประสบอุบัติเหตุตกบ่อยๆ แต่ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตมีจำนวนน้อย เหตุการณ์ที่เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ คือ เครื่องบินโดยสารไอพ่นของสายการบินต่างประเทศ บินชนโรงงานทอผ้าใกล้ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ขณะบินร่อนลง และเครื่องบินโดยสารภายในประเทศประสบอุบัติเหตุตกที่รังสิต มีผู้โดยสารและเจ้าพนักงานของเครื่องบิน เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก | |||
| |||
จากสถิติขององค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ รายงานไว้ว่า อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางบก และทางน้ำแล้ว ปรากฏว่า มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่ำกว่ามาก และค่อนข้างคงที่ตลอดมา ในช่วงระยะเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา การบินโดยสารระหว่างประเทศส่วนใหญ่ใช้เครื่องบินไอพ่น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึง ๒๕๒๑ มีสถิติเครื่องบินไอพ่นตกทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง ๑๐ ถึง ๑๕ ลำต่อปี รวมเครื่องบินไอพ่นโดยสารตกทั้งสิ้น ๓๒๔ ลำ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินพลเรือนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันแล้ว สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ของการขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มลดลง สาเหตุของอุบัติเหตุเครื่องบินตกเป็นไปได้ ๓ ทาง คือ เกิดจากความบกพร่อง ของเครื่องบิน สภาพภูมิอากาศไม่ดี หรือความบกพร่องของนักบิน เช่น ประมาท เจ็บป่วยในขณะปฏิบัติงาน ขาดประสบการณ์ หรือขาดความชำนาญในเที่ยวบินครั้งนั้นๆ เป็นต้น |