เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บาดแผล

            บาดแผล (Wounds) หมายถึง การบาดเจ็บทุกชนิดที่ก่อให้เกิดการแตกสลายของผิวหนัง หรือเยื่อบุส่วนอื่นๆ ของร่างกายรวมทั้งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่เนื้อเยื่อที่อยู่ส่วนล่างลงไปจากผิวหนัง หรือเยื่อบุเหล่านี้ ผลของบาดแผลที่ควรสนใจเป็นพิเศษคือ เลือดออก และติดเชื้อ

ประเภทของบาดแผล

บาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ

๑. บาดแผลถลอก (abrasions)

            เป็นบาดแผลจากการขีดข่วน ขัดถู เสียดสี มักเป็นแผลตื้นๆ มีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอย เช่น แผลจากหกล้ม ทำให้เกิดบาดแผลถลอกตามข้อศอกและหัวเข่า บาดแผลประเภทนี้ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะมีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผลตั้งแต่ต้น

๒. บาดแผลตัด (incisions)

            เป็นบาดแผลจากของมีคม เช่น มีด ขอบโลหะ กระจก เศษแก้วตัดผ่านผิวหนังมักมีเลือดออกมาก เพราะเส้นเลือดถูกตัดขาดบริเวณขอบแผลทั้งๆ ที่เนื้อเยื่อโดยรอบมิได้ถูกกระทบกระเทือนบาดแผลประเภทนี้ติดเชื้อโรคได้น้อยที่สุดเพราะมีเลือดออกมาก จึงชะล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกมาด้วย

๓. บาดแผลฉีกขาด (lacerations)

            เป็นบาดแผลที่เกิดจากสะเก็ดระเบิด บาดแผลฉีดขาดจากอุบัติเหตุเครื่องยนต์มักมีฝุ่นผงน้ำมัน หรือสิ่งสกปรกเจือปน เส้นเลือดบริเวณบาดแผลมักถูกหนีบ จึงทำให้เลือดออกไม่มาก แต่ติดเชื้อโรคได้


บาดแผลเกิดจากกระสุนปืน

๔. บาดแผลทะลุ หรือบาดแผลถูกแทง (punctures or penetrating wounds)

            เป็นบาดแผลที่เกิดจากถูกแทงด้วยของแหลม หรือถูกกระสุนปืน มีทางเข้าเล็กๆ แต่ลึก บางครั้งไม่ปรากฏเลือดออกมาจากภายนอก แต่มีการบาดเจ็บรุนแรงของอวัยวะใต้ผิวหนังลงไป ติดเชื้อได้ง่าย เพราะมีเชื้อโรคจากภายนอกเข้าไปในส่วนลึกของแผล มีเลือดออกน้อย
๕. บาดแผลถูกบีบหรือบด (crushed wounds)

            มักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง บาดแผลของผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบถูกทำลายไปมาก มักมีกระดูกหัก และบาดแผลฉีกขาดร่วมอยู่ด้วย เชื้อโรคเข้าไปสู่ส่วนลึกได้มาก มีความเจ็บปวดและเลือดออกรุนแรง

หลักของการรักษาบาดแผล

            ๑. บาดแผลสด ให้ปฐมพยาบาลโดยห้ามเลือดรักษาอาการช็อค และป้องกันการติดเชื้อด้วยการแต่งบาดแผลที่ถูกวิธีตามลำดับขั้นตอน

            ๒. บาดแผลเก่าที่ติดเชื้อโรคมาแล้ว ให้ปฐมพยาบาลโดยบังคับให้ส่วนที่มีแผลอยู่นิ่ง ยกให้สูง แล้วประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น

            ๓. บาดแผลใดที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ถ้าเอาออกได้ ควรรีบเอาออกเสีย

วิธีปฏิบัติ

            ๑. บาดแผลที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย ให้ใช้ยาแต่งแผลธรรมดา เช่น ทายาแดงแล้วปิดด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดอย่าลืมนำส่งแพทย์ เพื่อฉีดยาวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หรือรักษาโรคอื่นๆ เพิ่มเติม

            ๒. บาดแผลที่มีเลือดออกมาก ควรห้ามเลือดให้ดีก่อนแต่งบาดแผล

            ๓. หากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในบาดแผล เช่น เศษดินทราย น้ำมัน ดินระเบิด หรือดินปืน ควรชะล้างด้วยน้ำสะอาดให้ออกมามากที่สุด แล้วปิดแผลไว้ หากมีกระดูกแทงทะลุออกมา ควรห้ามเลือดเสียก่อนแล้วจึงปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดก่อนเข้าเฝือกชั่วคราว

            ๔. บาดแผลบริเวณทรวงอกที่มีทางติดต่อเข้าไปในช่องปอด ให้ใช้ผ้าหนาๆ ปิดทับลงบนปากแผลให้แน่นโดยเร็ว เพื่อมิให้อากาศเข้าออกเวลาหายใจได้ แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการช็อคก็ไม่ควรให้นอนราบ ให้นอนพิงในท่านั่ง เพื่อมิให้หายใจลำบาก


เมื่อมีบาดแผลทะลุช่องปอด

(ก) ควรรีบปิดแผลให้แน่นด้วยผ้า (ข)แล้วปิดทับด้วยผ้าพลาสเตอร์กาวให้แน่น มิให้อากาศเข้าออกได้

            ๕. บาดแผลบริเวณหน้าท้อง ควรกดบนแผลด้วยผ้าสะอาด เพื่อห้ามเลือด หากพบส่วนหนึ่งส่วนใดของลำไส้ทะลักออกจากแผล ควรปิดแผลด้วยผ้าสะอาดที่ชุ่มน้ำเกลือ ให้ผู้ป่วยนอนหงายงอเข่าทั้ง ๒ ข้างเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องหย่อน ไม่ควรให้อาหาร หรือน้ำดื่มแก่ผู้ป่วย และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

เมื่อพบบาดแผลทะลุหน้าท้อง ควรวางผ้าสะอาดบนบาดแผล ก่อนใช้ผ้าพันรอบหน้าท้องให้แน่นพอควร อย่าพยายามยัดลำไส้ที่ทะลักออกมา ให้เข้าไปในช่องท้อง



            ๖. บาดแผลบริเวณศีรษะ ควรให้ผู้ป่วยนอนหงายในท่าราบ ในกรณีที่ผู้ป่วยหน้าแดง หรือแสดงอาการหายใจลำบาก ควรหนุนศีรษะของผู้ป่วยให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย

            ๗. บาดแผลบริเวณใบหน้าให้รักษาเช่นเดียวกับบาดแผลอื่นๆ นอกจากในรายที่ผู้ป่วยมีอาการช็อคควรให้ใบหน้าของผู้ป่วยตะแคงข้าง และให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เลือดจะได้ไม่ไหลเข้าไปอุดทางเดินหายใจ

            ๘. บาดแผลภายในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการกระแทกจากแรงภายนอก โดยที่ไม่มีการบาดเจ็บของผิวหนังภายนอก ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้นาน ควรส่งให้แพทย์ตรวจโดยด่วน บางครั้งต้องทำการผ่าตัดช่วยชีวิต

            ๙. การบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้ส่วนใดของแขนหรือขา แม้แต่นิ้วมือนิ้วเท้าขาดออกจากร่างกาย ผู้ช่วยเหลือควรห้ามเลือดส่วนทีเป็นแผลโดยเร็ว ชิ้นส่วนที่ขาดออกมาควรเก็บใส่ถุงพลาสติกแห้ง มัดปากถุงให้แน่น นำไปแช่ไว้ในน้ำแข็ง ส่งพร้อมกับผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้ผ่าตัดต่ออวัยวะที่บาดเจ็บให้

บาดแผลจากความร้อน

            บาดแผลจากความร้อน (burns) เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน หรือประกายจากกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดอันตรายแก่ผิวหนังได้ ๓ ระดับ คือ

            ระดับที่ ๑ (first-degree burns) ปรากฏว่าผิวหนังมีผื่นแดงเท่านั้น เพราะเพียงส่วนนอกสุดของหนังกำพร้าถูกความร้อน
            ระดับที่ ๒ (second-degree burns) ผิวหนังถูกทำลายลึกกว่าระดับที่ ๑ และปรากฏอาการพองมีน้ำเหลืองขังใต้ผิวหนัง
            ระดับที่ ๓ (third-degree burns) ผิวหนังถูกไหม้ลึกลงไปในเนื้อเยื่อของผิวหนังถูกทำลายเสียหมด

            อันตรายที่เกิดจากความร้อนบนผิวหนังมีความสัมพันธ์กับระดับของแผลและพื้นที่ของผิวหนังที่ได้รับอันตราย ถ้าบริเวณกว้างมาก ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการช็อค เพราะสูญเสียน้ำเหลืองออกจากบาดแผลเป็นจำนวนมาก วิธีปฐมพยาบาลคือ ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ รักษาอาการช็อค และให้ยาระงับปวดโดยเร็ว

            หากเสื้อผ้าของผู้ป่วยติดไฟ ผู้ช่วยเหลืออาจสาดน้ำไปบนตัวผู้ป่วยเพื่อดับไฟ ถ้าไม่มีน้ำ ให้ตะโกนบอกผู้ประสบเหตุให้กลิ้งตัวไปมาบนพื้นเพื่อให้ไฟดับ หรือผู้ช่วยเหลือใช้ผ้าหุ้มห่อตัวผู้ป่วย เช่น ใช้ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม แล้วกลิ้งตัวผู้ป่วยไปมาบนพื้น หลังจากไฟดับแล้ว ให้ฉีกเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกเพื่อหารอยแผลลวกไหม้

            หากพบรอยแผลลวก - ไหม้ระดับที่ ๑ มีพื้นที่น้อย ให้แช่ส่วนนั้นลงในน้ำเย็น เพื่อระงับปวด ใช้เวลาแช่น้ำเย็นสัก ๑๕ นาที เช็ดให้แห้ง แล้วทาแผลด้วยขี้ผึ้งทาแผลก่อนนำผู้ป่วยไปให้แพทย์ตรวจต่อไป

            หากแผลลวก - ไหม้รุนแรง และพื้นที่ของแผลกว้างมาก ให้รักษาอาการช็อค โดยให้ผู้ช่วยนอนราบศีรษะต่ำกว่าตัว คลุมตัวด้วยผ้าห่มให้อบอุ่น ไม่ควรใช้ยาทาแผล นำส่งโรงพยาบาลโดยมิชักช้า

แผลไหม้จากวัตถุเคมี


            วัตถุเคมีทำให้เกิดแผลรุนแรงได้ทั้งดวงตาและผิวหนังเมื่อประสบเหตุ ผู้ช่วยเหลือควรชะล้างผิวหนังหรือดวงตาของผู้ป่วยด้วยน้ำจำนวนมากๆ เช่น เปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่านโดยแรงหากหาน้ำสะอาดไม่ได้ ก็ใช้น้ำเท่าที่อยู่ใกล้มือไปก่อนแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที