เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การหายใจขัดหรือหยุดหายใจ

            อาการหายใจขัด หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจอาจเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

            ๑. ถูกรัดคอ หรือถูกบีบคอ

            โดยมากจากการผูกคอตาย ถูกบีบคอทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุบริเวณลำคอ ผู้ช่วยเหลือควรรีบแก้สิ่งรัดคอออกโดยเร็ว ขยายเครื่องแต่งกายให้หลวม ทำการผายปอดโดยมิชักช้า

            ๒. ถูกกระแสไฟฟ้าดูด

            ผู้ช่วยเหลือต้องปิดสวิตช์ไฟฟ้าทันที หรือเขี่ยเอาสายไฟฟ้าออกโดยใช้ไม้แห้ง หรือสิ่งอื่นใดที่ยาวพอสมควรและไม่เป็นสื่อไฟฟ้า ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนผู้ป่วยออกจากแหล่งกระแสไฟฟ้าดูด ให้คล้องด้วยผ้าหรือเชือกที่หัวไหล่แล้วลากผู้ป่วยออกมา หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบผายปอดจนกว่าจะหายใจได้เองหรือส่งแพทย์

            ๓. คนจมน้ำ

            ผู้ช่วยเหลือควรรีบล้วงปากและคอของผู้ป่วย เอาดิน โคลน ผัก หญ้า หรือเสมหะออกให้หมด หากผู้ป่วยยังหายใจอยู่ ให้นอนหงายศีรษะตะแคงข้างในระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย คลุมด้วยผ้าให้ร่างกายอบอุ่น แล้วรีบส่งแพทย์ หากผู้ป่วยไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำศีรษะ ตะแคงข้าง ทำการผายปอดแบบกดหลังยกแขน หากผู้ป่วยไม่หายใจและไม่มีชีพจรให้จับผู้ป่วยนอนหงาย ทำการผายปอดด้วยวิธีเป่าลมเข้าปาก และนวดหัวใจไปด้วยพร้อมๆ กัน

            ๔. ถูกควันหรือไอพิษ

            เช่น ก๊าซหุงต้ม ไอเสียจากเครื่องยนต์ ควัน ไฟเผาไหม้ ควันพิษจากสงคราม ให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่เกิดเหตุมายังที่ๆ อากาศโปร่ง ทำการผายปอดโดยเร็ว รีบส่งแพทย์

            ๕. สิ่งแปลกปลอมติดคอ

            ผู้ป่วยอาจสำลักเศษอาหารฟันปลอด เด็กๆ สำลักเมล็ดผลไม้ หรือของเล่นเข้าไปในลำคอ และหลอดลมส่วนต้น ถ้าเป็นเด็กทารก ผู้ช่วยเหลือรีบจับเท้าทั้งสองของผู้ป่วย ห้อยศีรษะลงแล้วตบกลางหลังเบาๆ เพื่อให้เด็กไอเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ถ้าเป็นเด็กโตให้ผู้ช่วยเหลือคล้องเอวผู้ป่วยด้วยแขน ให้ศีรษะของผู้ป่วยห้อยต่ำกว่าลำตัว ตบกลางหลังของผู้ป่วย บริเวณระหว่างกระดูกสะบักด้วยฝ่ามือหรือสันมือ เพื่อกระเทือนให้สิ่งแปลกปลอดหลุดจากหลอดลม หากเป็นผู้ใหญ่ให้ยกผู้ป่วยนอนคว่ำบนขอบโต๊ะ ให้ศีรษะ และทรวงอกห้อยต่ำลงมาจากขอบโต๊ะ หรือให้ผู้ป่วยโน้มตัวเอาช่วงท้องทับบนตักข้างหนึ่งของผู้ช่วยเหลืออยู่ในท่านั่งก็ได้ ผู้ช่วยเหลือใช้สันมือหรือฝ่ามือตบกลางหลังระหว่างกระดูกสะบักเพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากหลอดลม หากวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผลให้รีบนำส่งแพทย์

การช่วยเหลือผู้ที่มีสิ่งของติดคอหรือสำลักของ เข้าหลอดลมหายใจ : การช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นเด็กโต

การผายปอด

            การผายปอดเป็นวิธีการทำให้อากาศเข้าไปในปอดของ ผู้ป่วยที่หายใจขัดหรือหยุดหายใจ การผายปอดที่ปฏิบัติกัน แพร่หลาย และได้ผลดีมี ๒ วิธี คือ

            ก. การผายปอดแบบกดหลังยกแขน หรือ แบบ โฮลเกอร์ - นิลเซ็น (back-pressure-arm-lift method or Holger- Nielsen method)

            ข. การผายปอดแบบเป่าลมเข้าปากหรือจมูกโดยตรง (mouth-to-mouth or mouth-to-nose method)

            การผายปอดแบบกดหลังยกแขน

วิธีนี้ใช้ได้ดีในกรณีที่ทำการผายปอดแบบเป่าลมเข้าปาก โดยตรงไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยกินสารพิษ เช่น ยาพิษ ยาปราบศัตรูพืช หรือผู้ป่วยมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณใบหน้า เป็นต้น

วิธีปฏิบัติ

            ๑. ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ งอข้อศอกทั้งสองข้างขึ้นไป วางมือข้างหนึ่งทับบนมืออีกข้าง ให้ศีรษะตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง และแก้มกดอยู่บนหลังมือ

            ๒. ผู้ช่วยเหลือหันหน้าเข้าหาผู้ป่วย คุกเข่าลงข้างใด ข้างหนึ่งที่ตนถนัด ให้หัวเข่าชิดศีรษะและแขนของผู้ป่วย วางเท้า อีกข้างหนึ่งให้ชิดศรีษะอีกด้านหนึ่งของผู้ป่วย วางมือคว่ำลง บนหลังผู้ป่วยบริเวณต่ำกว่ากระดูกสะบักเล็กน้อย ให้หัวแม่มือ ทั้งสองข้างจดกัน นิ้วที่เหลือกางออกเป็นรูปผีเสื้อ

            ๓. จังหวะ "กดหลัง" เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผู้ช่วยเหลือโน้มตัวไปข้างหน้าแขนทั้งสองเหยียดตรงให้น้ำหนักตัว ทิ้งไปข้างหน้าช้าๆ

            ๔. จังหวะ "ยกแขน" เป็นท่าทำให้ผู้ป่วยหายใจเอา อากาศเข้าโดยผู้ช่วยเหลือเอนตัวกลับสู่ท่าเดิมช้าๆ เลื่อนมือทั้งสอง มาจับเหนือศอกของผู้ป่วย แขนผู้ช่วยเหลือเหยียดตรงอยู่ตลอดเวลา ยกแขนทั้งสองของผู้ป่วยขึ้น และดึงเข้ามาหาตัวผู้ช่วยเหลือ จน รู้สึกว่าตึงเต็มที่ จากนั้นจึงค่อยๆ วางแขนของผู้ป่วยลงบนพื้น เหมือนเดิม เป็นอันครบรอบการผายปอดหนึ่งครั้ง

            ๕. สำหรับผู้ใหญ่ให้ผายปอด ๑๒ ครั้งต่อนาที ส่วน เด็กอาจผายปอดประมาณ ๒๐ ครั้งต่อนาที การโน้มตัวลงของ ผู้ช่วยเหลือแก่เด็กให้ลดแรงลงตามความเหมาะสม

การผายปอดด้วยวิธีกดหลังยกแขน : ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำศีรษะวางบนมือ หันหน้าไปด้านข้าง ผู้ช่วยเหลือคุกเข่าอยู่ด้านศีรษะของผู้ป่วย

การผายปอดแบบเป่าลมเข้าปากหรือจมูกโดยตรง             มีหลักอยู่ว่า ลมหายใจออกของผู้ช่วยเหลือยังมีออกซิเจน เพียงพอที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หยุดหายใจได้ วิธีปฏิบัติ ๑. ก่อนอื่นต้องล้วงปากปละคอผู้ป่วย เอาสิ่งแปลกปลอดหรือเสมหะออก ๒. ถ้าผู้ป่วยนอนหงายคอพับ ลิ้นส่วนหลังของผู้ป่วย จะเลื่อนลงไปอุดหลอดลมหายใจ ผู้ช่วยเหลือจึงควรจับศีรษะของผู้ป่วย หงายไปข้างหลังให้เต็มที่ หาผ้าพับหลายๆ ชั้นหนุน รองใต้บ่าเพื่อให้ศีรษะแหงนมากๆ ทางเดินหายใจสะดวก ๓. จับศีรษะของผู้ป่วยหงายไปทางหลังเต็มที่ ผู้ ช่วยเหลือหายใจเข้าเต็มที่ และอ้าปากกว้าง ต่อมาให้ผนึกริมฝีปากของผู้ช่วยเหลือ ครอบลงไปบนจมูกของผู้ป่วย โดยบีบปากผู้ป่วย ให้แน่น เป็นวิธีเป่าลมเข้าจมูก หรืออีกทางหนึ่งเป็นการเป่าลมเข้าปากของผู้ป่วย โดยผู้ช่วยเหลือผนึกริมฝีปากลงไปครอบบนปาก ของผู้ป่วย ใช้นิ้วมือบีบจมูกของผู้ป่วยไว้ให้แน่น เป่าลมเข้าไป โดยแรง จนกระทั่งเห็นทรวงอกของผู้ป่วยขยายตัวขึ้น ๔. ผู้ช่วยเหลือถอนปากออกจากผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยหายใจออกมาเอง โดยสังเกตว่าระดับทรวงอกของผู้ป่วยเคลื่อนต่ำลง ๕. วิธีผายปอดนี้ให้ทำ ๑๒ ครั้งต่อนาที (หรือ ๕ วินาทีต่อหนึ่งครั้ง) สำหรับผู้ใหญ่ หากเป็นเด็กให้เป่าลม ๒๐ ครั้ง ต่อนาที (หรือ ๓ วินาทีต่อหนึ่งครั้ง)


การผายปอดด้วยวิธีเป่าลมเข้าปากโดยตรง :

            ก. ใช้นิ้วล้วงเอาวัตถุแปลกปลอม และเสมหะ ออกจากปากและคอ หนุนไหล่ ด้วยหมอนหรือผ้า

            ข. จับศีรษะให้หงายไปข้างหลังให้คางเกือบเป็นแนวตรงกับลำคอ

            ค. ใช้มือดึงขากรรไกรของผู้ป่วยขึ้น อีกมือหนึ่งให้บีบจมูกของผู้ป่วย

            หากผู้ช่วยเหลือไม่ต้องการสัมผัสกับใบหน้าของผู้ป่วย โดยตรง อาจใช้ผ้าเช็ดหน้าคลุมหน้าของผู้ป่วยไว้ แล้วเป่าลมผ่านผ้าเช็ดหน้าได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาพิษ หรือสำลักควันพิษ การเป่าลมเข้าปากหรือจมูก จะเป็นอันตรายแก่ผู้ช่วยเหลือ ควรใช้การผายปอดแบบกดหลังยกแขนจะดีกว่า


            ก. ผู้ช่วยเหลือผนึกริมฝีปากทาบบนปากของผู้ป่วย แล้วเป่าลมเข้าไป จนหน้าอกของผู้ป่วยขยาย ปล่อยให้ผู้ป่วยหายใจออกเอง

            ข. อาจกดหน้าท้องของผู้ป่วยนานๆ ครั้ง เพื่อไล่ลมออกจากกระเพาะอาหาร