มะเร็งเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นได้ทั้งในสัตว์และมนุษย์ทุกชนชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย และทุกฐานะ เป็นโรคซึ่งมีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีผู้รายงานว่าได้พบมะเร็งที่กระดูกต้นขาของมัมมี่ที่ฝัง อยู่ในพีระมิดกิเซห์ (Gizeh Pyramid) ซึ่งเป็นที่ฝังศพ ของราชวงศ์ไอยคุปต์โบราณ มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในป่า หรือในเมืองทุกประเทศ ทุกทวีป ในส่วนต่างๆ ของโลก ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน ผิดกันแต่ ตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นเท่านั้น ซึ่งเป็นมากน้อยต่างกัน โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนา แล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ในมโนภาพของบุคคลโดยทั่วๆ ไป "โรคมะเร็ง" เป็นโรคที่น่ากลัว รักษาให้หายขาดได้ยาก และเมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่จะต้อง เสียชีวิตทุกรายด้วยความทุกข์ทรมาน ความจริงแล้ว โรคมะเร็งส่วนใหญ่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการรักษา ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น
เนื้องอกของต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอในเด็ก
ในประเทศไทย โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เพราะปัจจุบันนี้ ชาวไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่าโรคอื่นๆ ที่เคยเป็นปัญหาทางสาธารณสุขมาในอดีต เช่น โรคติดเชื้อต่างๆ โรคมาลาเรีย ภาวะทุพโภชนาการ การแทรกซ้อนของ การตั้งครรภ์ ฯลฯ และชาวไทยมีแนวโน้ม ที่จะเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นทุกวัน จากรายงานของกองสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ชาวไทย เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับที่ ๖ หรือมีอัตรา ตายเท่ากับ ๑๖.๓ ต่อประชากรแสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ ๓ โดยมีอัตราตายเท่ากับ ๑๘.๔/แสน/ปี และในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เลื่อนขึ้นเป็น อันดับที่ ๒ โดยมีอัตราตายเท่ากับ ๑๘.๔/แสน/ปี (อันดับที่ ๑ คือ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ)
การที่พบว่าชาวไทยเป็นมะเร็งมากขึ้น พอจะ อนุมานได้จากสาเหตุต่อไปนี้ คือ
๑. มีการเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ดีขึ้น
๒. ชาวไทยเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ น้อยลง เพราะมีการปรับปรุงในด้านสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น
๓. ชาวไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าสมัยก่อน จนถึงวัยที่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากขึ้น
๔. สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
แม้ว่าจะมีองค์การต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งในประเทศไทย มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เช่น สถาบัน มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ สมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ และสถาบันที่เกี่ยวกับมะเร็งตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใน สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย แต่อุบัติการของโรคมะเร็งในประเทศไทยก็ไม่ลดลง ซ้ำกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กระทรวงสาธารณสุขโดยการสนับสนุน ขององค์การอนามัยโลก จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการมะเร็งแห่งชาติขึ้น เพื่อจะวางมาตรการ และประสานความร่วมมือ ระหว่างองค์การต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย