เล่มที่ 9
โรคมะเร็ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ขั้นตอนของการเกิดมะเร็ง

            โดยสรุปแล้ว การเกิดมะเร็งมีปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน ขั้นตอนของการเกิดมะเร็งแบ่งเป็น ๓ ระยะ ซึ่งเปรียบเสมือนโศกนาฏกรรม ๓ องค์จบ ซึ่งถ้านับระยะเวลาตั้งแต่เซลล์ปกติได้รับสารก่อมะเร็งจนกระทั่งเห็นเป็นก้อน มะเร็งจะใช้เวลานานเป็นปีหรือหลายปี ดังแผนภาพต่อไปนี้
แผนภาพแสดงขั้นตอนของการเกิดมะเร็ง
แผนภาพแสดงขั้นตอนของการเกิดมะเร็ง
ขบวนการเกิดเซลล์มะเร็ง

            เมื่อเกิดเป็นสารเซลล์มะเร็งขึ้นแล้ว เนื่องจากว่า เซลล์มะเร็งมีความพิการ หรือการผิดปกติที่ยีนหรือโครโมโซม ฉะนั้น เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และให้เซลล์ลูกที่เป็นเซลล์มะเร็งเสมอ จะไม่แบ่งตัวให้เซลล์ลูกที่เป็นเซลล์ปกติ ลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า เซลล์มะเร็ง มีคุณสมบัติของการถ่ายทอดทางตรง (breed-trueproperty)
แผนภาพแสดงกระบานการเกิดเซลล์มะเร็ง
แผนภาพแสดงกระบานการเกิดเซลล์มะเร็ง
            เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโต โดยมีวงชีพของเซลล์เหมือนเซลล์ปกติ คือ เมื่อเซลล์แบ่งตัวให้เป็นเซลล์ลูก ๒ เซลล์แล้ว บางเซลล์อาจอยู่นอกวงชีพของเซลล์เรียกว่า ระยะจี o(Go) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่มีการเจริญเติบโต แต่ไม่ตาย และอาจจะกลับเข้าสู่วงชีพของเซลล์ได้ ถ้ามีสิ่งกระตุ้นเซลล์ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะ จี/๑ G1, presynthetic หรือ postmitotic phase) เป็นระยะที่เซลล์เริ่มแสดงลักษณะเฉพาะของมัน และในตอนท้ายๆ ของระยะนี้จะมีการเตรียมการสร้างดีเอ็นเอ โดยการสร้างน้ำย่อยต่างๆ ถัดไปจะเป็นระยะเอส (S, synthetic phase) คือมีการสร้างดีเอ็นเอ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะจี ๒ G2 postsynthetic หรือ premitotic phase) ซึ่งไม่มีการสร้างดีเอ็นเออีก แต่มีการสร้างโปรตีนเพิ่ม เพื่อนำไปสร้างอาร์เอ็นเอ และสุดท้ายเซลล์จะเข้าสู่ระยะเอ็ม (M) คือ ระยะแบ่งตัว (mitotic phase) เซลล์มะเร็งจะสร้างดีเอ็นเอช้ากว่า หรือใกล้เคียงกับเซลล์ปกติ แต่เซลล์มะเร็งตายยากกว่า เพราะเซลล์ค้างอยู่ในระยะใดระยะหนึ่งของวงชีพของเซลล์ ส่วนใหญ่ที่พบ คือ ในระยะจี ๑ และ จี ๐ การที่เซลล์มะเร็งตายน้อยกว่าเซลล์ เกิดใหม่ และการที่เซลล์มะเร็งมักจะมีอัตราการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติ จึงเป็นผลทำให้เซลล์มะเร็งรวมกันโตเป็นก้อน
แผนภาพแสดงลักษณะของก้อนมะเร็ง
แผนภาพแสดงลักษณะของก้อนมะเร็ง
            การศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะชนิดเป็นก้อน อาจทำง่ายๆ โดยการวัดระยะเวลาที่เซลล์มะเร็งแบ่งตัว จนปริมาตรของก้อนมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า

            สำหรับมะเร็งส่วนมากที่เกิดในคนจะโตขึ้นเป็น ๒ เท่า โดยเฉลี่ยประมาณ ๑-๕ เดือน แต่เซลล์มะเร็งที่ได้เพาะเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ จะมีระยะเวลานี้ประมาณ ๑-๒ วัน เท่านั้น เนื่องจากการเพาะเลี้ยงซ้ำกันหลายๆ ครั้ง ทำให้เกิดเซลล์ที่มีอัตราการแบ่งตัวเร็วขึ้น ความแตกต่างในการเจริญเติบโตของแต่ละเซลล์ของแต่ละก้อนมะเร็ง ในผู้ป่วยรายเดียวกัน หรือต่างคนกัน หรือแม้แต่ในก้อนมะเร็งก้อนเดียวกัน ยังมีการเจริญเติบโตเร็วช้าต่างกัน มีมะเร็งบางชนิดในคนที่ก้อนโตช้ามากทั้งๆ ที่เซลล์มีอัตราการแบ่งตัวเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เซลล์กลับไปอยู่นอกวงชีพ ทำให้ไม่มีการแบ่งตัว หรือมีการหลุดลอกออกไป หรือมีการตายของเซลล์ เช่น แก่ตาย ถูกเบียดตาย ขาดอาหาร หรือขาดออกซิเจน หรือถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเม็ดเลือดขาวบางชนิด (T-lymphocytes)

            ก้อนมะเร็งแต่ละก้อนจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงโดยเฉพาะ จึงมีผู้เชื่อกันว่า การโตของก้อนมะเร็งจะถูกควบคุมโดยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์บุผนังด้านในของหลอดเลือดฝอย (tumourangiogenesis factor-TAF) การมีหลอดเลือดฝอยใหม่ๆ เกิดได้เร็ว ก็จะทำให้ก้อนมะเร็งโตเร็วขึ้นด้วย

ก้อนมะเร็งอาจจะแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ

            ก. ส่วนเจริญ เป็นส่วนรอบนอกของก้อนเซลล์ได้รับอาหาร และออกซิเจนจากหลอดเลือดอย่างสมบูรณ์แบ่งตัวได้เร็ว
            ข. ส่วนไม่เจริญอยู่ลึกถัดเข้ามา เป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิต แต่ไม่แบ่งตัวส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะจี ๑
            ค. ส่วนแกน หรือส่วนตาย อยู่ตรงกลางของก้อนมะเร็ง ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว เพราะขาดออกซิเจน หรือถูกเบียดตาย แต่เซลล์ชั้นนอกๆ ของส่วนนี้อาจจะไม่ตาย แต่ไม่แบ่งตัว และส่วนใหญ่อยู่ในระยะจีo เพราะเซลล์สามารถได้กำลังงานจากการสลายตัวของไกลโคเจนในเซลล์ เมื่ออยู่ในภาวะที่ขาดออกซิเจนเหมือนกับบัคเตรีบางชนิด

            เนื่องจากออกซิเจนจากหลอดเลือดฝอยจะมีการซึมซาบได้ในระยะจำกัด และถ้าเซลล์อยู่ห่างจากหลอดเลือดฝอยเกินกว่าระยะทาง ๑๕๐ ไมโครมิเตอร์ จะถือว่าเซลล์นั้นอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ฉะนั้น เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น ส่วนแกนหรือส่วนตายจะมีขนาดโตขึ้นด้วย ในขณะที่ส่วนเจริญ และส่วนไม่เจริญมักจะมีขนาดค่อนข้างคงที่