มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) ได้กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิต และสุขภาพแล้ว เซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บ และความตายด้วย" นั่นคือ การเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการ หรือผิดปกติที่ยีน (gene) ภายในโครโมโซม (chromosome) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิก และเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะ และหน้าที่การทำงาน ของเซลล์ และการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ ความพิการ หรือผิดปกติเช่นนี้ ทำให้เซลล์แบ่งตัว โดยไม่ยอมหยุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร่างกาย นักวิจัยเป็นจำนวนมากทั่วโลก ต่างก็ได้พยายามที่จะค้นคว้าวิจัยว่า อะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และก็ยังไม่สามารถจะสรุปแน่นนอนได้ว่า เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า มีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ ๒ อย่างร่วมกัน อันจะทำให้เซลล์นั้นๆ ทำงานผิดปกติไปคือ | |||
ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่แตกเป็นแผล และไปกดเส้นเลือดที่คอ | ๑. เหตุส่งเสริมหรือปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่ ก. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีมากน้อยแตกต่างกัน โดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถจะสร้างสารต่างๆ ออกมาในรูปของโปรตีน และโพลีเปปไทด์ (polyepeitdes) หลายๆ ชนิด ซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิว หรือผนังของเซลล์มะเร็งเรียกว่า ทูเมอร์แอสโซซิ เอตแอนติเจน (tumour associated antigen, TAA) หรือทูเมอร์สเปซิฟิกทรานส์แพลนเตชันแอนติเจน (tumour speciflc transplantation antigen, TSTA) ตามปกติร่างกายของคนเรา สามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้ จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบ หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น | ||
ข. เชื้อชาติ ทุกชนชาติเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ส่วนมะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน เป็นต้น ค. เพศ มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งของช่องปาก มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมะเร็งบางชนิดก็จะพบได้เท่าๆ กันทั้งสองเพศ ง. อายุ มะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ซาร์โคมา (sarcoma) ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่า คาร์ซิโนมา (carcinoma) จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็งบางชนิดก็จะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตา ชนิดเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) มะเร็งของไตแบบวิล์ม (Wilm's tumour) เป็นต้น
จ. กรรมพันธุ์ (genetics) มีมะเร็งหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรรมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกตา ชนิดเรติโนบลาสโตมา ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้ว พี่น้อง หรือลูกหลานก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งนั้นๆ ได้มากขึ้น ฉ. ความผิดปกติต่างๆ เช่น ในกรณีที่เป็นไฝหรือปานดำ มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย (maligmant melanoma) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ | |||
ไฝดำที่ปลายจมูกกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย | |||
๒. เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่ ก. สารกายภายต่าง ๆ (physical agents) ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีฟันเก เวลาเคี้ยวอาหารฟันจะไปครูดกับเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นานๆ ไปทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อบุในช่องปาก หรือมะเร็งของลิ้นได้ | |||
ฟันเกไปครูดเยื่อบุภายในของริมฝีปากล่าง เป็นแผลเพิ่งเริ่มกลายเป็นมะเร็ง | |||
ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหาร จะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก อาจจะทำให้เกิดมะเร็งของเหงือก หรือเพดานปากได้ ก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะได้ การดื่มสุราที่มีดีกรีของแอลกอฮอล์สูงๆ โดยไม่เจือจางจะทำให้มีการระคายของเยื่อบุบริเวณแอ่งไพริฟอร์ม (pyriform) ข้างๆ กล่องเสียง ทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนี้ได้ ผู้ที่นิยมรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร้อนจัด จะมีการระคายบริเวณหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งของหลอดอาหารได้ สารต่างๆ ที่ฉีดเข้าร่างกาย เพื่อการเสริมสวย ก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งได้จากการระคายเฉพาะที่ อวัยวะเพศชายที่หนังหุ้มปลายไม่เปิด จะเกิดการระคายจากขี้เปียก (smegma) ทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้ การกระทบกระแทก การฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่มีอาชีพโสเภณี การคลอดบุตรหลายๆ คน หรือการมีกะบังลมหย่อน ในหญิงสูงอายุ ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ง่าย รังสีต่างๆ (ionizing radiation) การได้รับรังสีในปริมาณน้อยๆ แต่ได้รับบ่อยเป็นระยะเวลานานๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งได้ เกือบทุกอวัยวะ ข. สารเคมี (chemical agents) ในปัจจุบันนี้มนุษย์เรา โดยเฉพาะชาวไทย นอกจากจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแล้ว มนุษย์เรากำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า "สารก่อมะเร็ง" (carcinogen) อีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานถึงสารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งมากถึง ๔๕๐ ชนิด โดยส่วนใหญ่ สารต่างๆ เหล่านี้แฝงตัวมาในธรรมชาติในรูปของอาหารพืช หรือสารเคมีต่างๆ เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน (hydrocarbon) ที่ใช้ทำยารักษาโรค ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ควันไอเสียของเครื่องยนต์ เป็นต้น |
การรับประทานหมาก การจุกยาฉุนบริเวณริมฝีปากนอกจากจะมีการระคายเรื้อรังแล้ว ยังมีสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งของช่องปากได้ | หมากพลูมีสารก่อมะเร็ง |
การสูบบุหรี่จัด ควันบุหรี่มีสาร ๓.๔ เบนซ์ไพรีน (3, 4 benzpyrine) ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ สีย้อมผ้าต่างๆ เช่น สีอะนีลีน (aniline dye) หรือ สีอะโซ (azo dye) เช่น สีเหลือง [(butter yellow -4, dinethylamino azobenzene)] ซึ่งใช้ย้อมสีเนยเทียม หรือนำไปผสมอาหาร ขนม หรือลูกกวาดต่างๆ เพราะมีราคาถูก และมีสีสดสวย แทนที่จะใช้สี ซึ่งสกัดมาจากพืชเหมือนสมัยก่อน สีต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งของทางเดินน้ำดีได้ สารหนู ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของยารักษาโรค เช่น ยาจีนรักษาโรคผิวหนังชนิดเรื้อนกวาง แต่กลับเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้ สารไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หมักทุกชนิด เช่น ปลาร้า แหนม หมูส้ม ปลาส้ม หรืออาหารที่เข้าดินประสิว เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารได้ ความร้อนจะทำลาย (denature) สารไนโตรซามีนได้ ฉะนั้นอาหารประเภทนี้ถ้าทำให้สุกเสียก่อนก็จะปลอดภัย อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ย่างจนไหม้เกรียม ดีดีที นอกจากจะมีพิษโดยตรงต่อมนุษย์แล้ว ดีดีที ยังเปลี่ยนสภาพในร่างกายเป็นสารไดโนโตรซามีน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีนอีกด้วย ค. ฮอร์โมน (hormones) มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะอยู่ในยารักษาโรค ง. เชื้อไวรัส มีไวรัสหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (oncogenic viruses, tumour viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอ และไวรัสอาร์เอ็นเอ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วก็จะมีการเพิ่มจำนวน (productive infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้ แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (transformation) จากการที่ยีนหรือดีเอ็นเอของไวรัส (viralgnome หรือ viral DNA) ไปแทนที่ดีเอ็นเอของเซลล์ ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ไวรัส ทำให้เกิดมะเร็งในคน แต่ก็มีประจักษ์พยานหลายอย่างที่ทำให้คิดว่า ไวรัสอาจจะเป็นสาเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดในคน เช่น ไวรัวอีบีวี (epstein-barr virus) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งโพรงหลังจมูก และมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเบอร์คิตต์ (burkitt's lymphoma) หรือไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virustype 2) ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งเต้านมก็มีประจักษ์พยานว่า น่าจะเกิดจากไวรัสเช่นกัน จ. สารพิษ (toxin) โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราแอสเพอร์จิลลัสฟลาวัส (aspergilus flavus) ซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง อาหารประเภทข้าวต่างๆ มันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในน้ำนมวัว มะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง สารพิษนี้ทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง ฉ. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับบางชนิดได้ ช. ภาวะขาดอาหาร โรคตับแข็งซึ่งเกิดจากการขาดอาหารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย สารต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือสารที่ช่วย ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถ ทำให้เกิดมะเร็งได้เท่านั้น และร่างกายจะต้องได้รับ สารเหล่านั้นในปริมาณค่อนข้างมากในระยะเวลานานๆ ด้วย และประการสำคัญที่สุดคือ การที่บุคคลใดบุคคล หนึ่งจะเกิดเป็นมะเร็งได้นั้น ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานต่อโรคมะเร็ง ของบุคคลนั้นๆเป็นสำคัญ และยังจะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะด้วย ฉะนั้น การที่รับประทานอาหาร ที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราว จึงไม่น่าจะต้องวิตกแต่อย่างใด |