การป้องกันโรคมะเร็ง
การเกิดโรคมะเร็งมีหลายสาเหตุ และหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งภาวะภายใน และภายนอกร่างกาย มะเร็ง ซึ่งทราบสาเหตุที่แท้จริงจากภาวะภายนอกร่างกายก็สามารถป้องกันได้ แต่ยังมีมะเร็งอีกหลายๆ ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง หรือเกี่ยวกับภาวะภายในร่างกาย จึงไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง หรือการที่จะรู้ตัวว่า เป็นมะเร็ง ตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้อาศัยมาตรการที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
มาตรการแรก
ในการป้องกันโรคมะเร็ง คือ การรักษาสุขภาพ และพลานามัยให้แข็งแรงอยู่เสมอ สุขภาพ และพลานามัยที่แข็งแรงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยปฏิบัติดังนี้
๑. บริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งเนื้อสัตว์ และพืชผักผลไม้ ในปริมาณที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
๒. สิ่งที่เป็นเครื่องบั่นทอนสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา ควรจะงดหรือลดให้เหลือลดน้อยที่สุด
๓. ควรมีการพักผ่อนทั้งร่างกาย และจิตใจ
๔. ควรออกกำลังแต่พอสมควร เพื่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
๕. รักษาความสะอาดของร่างกายทุกๆ ส่วน โดยเฉพาะภายในช่องปาก และบริเวณอวัยวะเพศ ในเพศชายที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด ควรให้แพทย์ทำผ่าตัดหนังหุ้มปลายออกเสีย
มาตรการที่สอง
ได้แก่ การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งบ้างพอสมควร เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักโดยทั่วๆ ไปของโรคมะเร็งแล้ว ก็ย่อมจะเกิดแนวทางทั้งในด้านการป้องกัน และสามารถรู้ได้ว่า เป็นมะเร็งตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงสาเหตุหรือสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง
ก. อาหาร
ไม่ควรบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด อาหารหรือขนมที่ใส่สีย้อม ซึ่งจะสังเกตได้ง่าย คือ มีสีฉูดฉาด และเมื่อรับประทานแล้ว สีจะออกมากับปัสสาวะ อาหารเนื้อสัตว์หมักชนิดต่างๆ ควรทำให้สุกเสียก่อน อาหารที่ขึ้นราควรงดโดยเด็ดขาด เพราะสารอะฟลาทอกซินจะไม่ถูกทำลายโดยการทำให้เดือดหรือสุกโดยวิธีใดก็ตาม อาหารที่ขึ้นราง่ายควรเก็บในภาชนะที่แห้งสนิท และมิดชิด
ข. สิ่งเสพ
เช่น สุรา บุหรี่ หมากพลู ควรจะงดเสีย
ค. ยารักษาโรค
ไม่ควรรับประทานยาที่เข้าสารหนู หรือกำมะถันในปริมาณมากๆ ยาที่เข้าฮอร์โมนควรจะรับประทาน เมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น อย่าซื้อรับประทานเอง
ง. การระคายเรื้อรัง
ฟันเกที่ครูดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มอยู่เสมอควรถอนเสีย ไม่ควรฉีดสารแปลกปลอม เพื่อการเสริมสวย เช่น การฉีดพาราฟิน เป็นต้น
จ. สาเหตุอื่นๆ เช่น ควรหลีกเลี่ยงเคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน รังสี* เป็นต้น
๒. สนใจสุขภาพของตนเองและลูกหลาน
การสนใจสุขภาพของตนเอง และลูกหลาน มีความสำคัญต่อการที่แพทย์จะสามารถค้นหามะเร็ง หรือวินิจฉัยมะเร็งในขณะที่เพิ่งเป็นได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ข้อควรปฏิบัติ เพื่อการตรวจค้นหา และวินิจฉัยมะเร็ง
การที่จะค้นหามะเร็งได้ในขณะที่ยังไม่มีอาการห รือวินิจฉัยมะเร็งได้ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น มีความสำคัญมาก และจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้ป่วยเป็นอย่างมาก นอกเหนือไปจากความสามารถของแพทย์ และการพัฒนาก้าวหน้าในด้านเครื่องมือตรวจทางการแพทย์
ก. การตรวจเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่ม
เป็นการเอาใจใส่ และสนใจสุขภาพของตนเอง โดยมีการตรวจร่างกายประจำปี โดยการไปตรวจที่คลินิกมะเร็งแรกเริ่มตามโรงพยาบาล หรือสถาบันต่างๆ เช่น ในผู้ชายอายุเกิน ๓๐ ปีขึ้นไป ควรจะไปถ่ายภาพรังสีของปอดปีละครั้ง หรือในหญิงอายุเกิน ๒๕ ปีขึ้นไป ควรจะได้รับการตรวจเต้านม และตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ปีละครั้ง เพราะเป็นวัยที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่าย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และไปพบตามที่ แพทย์นัดทุกครั้ง
ข. การตรวจเพื่อวินิจฉัยมะเร็งเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว
โดยเฉพาะ เมื่อมีอาการของสัญญาณอันตราย ๗ ประการของโรคมะเร็ง หรือมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว การตอบคำถามของแพทย์โดยละเอียด และตามความจริงจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วยิ่งขึ้น
ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่า จะเป็นมะเร็ง ควรมอบความไว้วางใจ และให้ความร่วมมือกับแพทย์ การที่แพทย์จะตัดสินใจกระทำวิธีการตรวจใดๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งอย่างแน่นอน และแม่นยำ การกระทำนั้นๆ ย่อมจะไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่กลับจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเองเสมอ
ขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
ขั้นตอนต่างๆ ในการวินิจฉัยโรคนี้ เหมือนกับการวินิจฉัยโรคโดยทั่วไป คือ จะต้องอาศัยจาก
๑. ประวัติ
ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบัน และอดีตรวมทั้งการรักษา ประวัติการเป็นมะเร็งของบุคคลในครอบครัว อาชีพ และประวัติการติดของเสพติดทั้งหลาย เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น
๒. การตรวจร่างกาย
ทั้งเฉพาะตรงบริเวณที่เป็นมะเร็ง รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และการตรวจร่างกายโดยทั่วๆ ไป เพื่อค้นหามะเร็งทุติยภูมิ โดยวิธีการตรวจธรรมดา การถ่ายภาพรังสี การใช้กล้องส่องตรวจ เป็นต้น
๓. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
รวมทั้งการตรวจโดยวิธีเซลล์วิทยา เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยมะเร็งปฐมภูมิ และค้นหามะเร็งทุติยภูมิ
๔. การตรวจด้วยวิธีพิเศษ
เช่น การฉีดสารทึบแสง และถ่ายภาพรังสี การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
๕. การตัดชิ้นเนื้อ
รวมทั้งการทำผ่าตัด เพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา การที่แพทย์จะวินิจฉัยว่า ผู้ใดเป็นมะเร็งนั้น จะต้องอาศัยพยาธิแพทย์เป็นผู้ตรวจและอ่านชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาว่า เป็นมะเร็งจริงก่อนเสมอ จึงนับว่า เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และจำเป็นที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ในบางรายพยาธิแพทย์จะช่วยตัดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยคร่าวๆ ก่อน (frozen section) ซึ่งวิธีนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้ภายใน ๑๐-๒๐ นาที ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถตัดสินใจผ่าตัดอวัยวะที่สำคัญออกได้อย่างมาก