เล่มที่ 18
ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์
เล่นเสียงเล่มที่ 18 ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            นับแต่โบราณมา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทย อาจแบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ ศูนย์กลางของประเพณีหลวงคือ พระมหากษัตริย์ ส่วนประเพณีราษฎร์นั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านหรือวัด แต่ความสัมพันธ์ของประเพณีทั้งสองระดับนั้น มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมา คือ ได้มีการหยิบยืม และเลียนแบบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ประเพณีหลวงได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาขัดเกลาให้ละเอียดประณีตวิจิตร และมีความขลังศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น เพราะประเพณีหลวงรับแบบแผนมาจาก อินเดีย จีน เปอร์เซีย รวมทั้งมอญ เขมร และชวา เข้ามาผสมผสานด้วย ทำให้มีความสมบรูณ์มากขึ้น แล้วค่อยขยายอิทธิพลไปสู่ประเพณีราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์นี้

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของประเพณีหลวง


            ดังนั้น การศึกษาพัฒนาการของวัฒนธรรมไทย จึงควรศีกษา ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของวัฒนธรรมไทยได้ชัดเจนขึ้น เพราะวัฒนธรรมไทยมีลักษณะค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า เมื่อใดที่ประเพณีหลวงมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นประเพณีราษฎร์ก็มักจะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยเสมอ ยิ่งในสมัยปัจจุบันการคมนาคมเจริญมากขึ้น สื่อมวลชน และการนิยมวัฒนธรรมสมัยใหม่ แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

            สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ธรรมชาติจึงมีอิทธิพลมากต่อการทำมาหากินของราษฎรส่วนใหญ่ สามารถบันดาลทุกข์และสุขให้ได้ ความเชื่อนี้จึงก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้บังเกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สังคมตลอดทั้งปี ดังตัวอย่างในภาคอีสานมีพิธีกรรมเรียกว่า ฮีตสิบสอง เป็นต้น ช่วงของความสำคัญของพิธีกรรมนี้ อยู่ระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผล และก่อนเริ่มฤดูการผลิตใหม่ กล่าวคือ ก่อนที่ชาวนาจะลงมือดำนา เขาจะสร้างนาจำลองสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนี้เรียกว่า "ตาแรก" หรือ "ตาแฮก" จากนั้นจะสร้างศาลเล็กๆ ให้เป็นที่สิงสถิตของแม่โพสพ บนศาลมีเครื่องเซ่น ประกอบด้วยหมากพลู ดอกไม้ และธูป ตรงมุมหนึ่งของที่ดินแปลงนี้ปักเฉลวไว้ เพื่อให้เป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีและสัตว์ร้ายต่างๆ มาทำร้ายแม่โพสพและพืชที่ปลูกไว้ถ้าปลูกข้าวในนาตาแรกนั้น ได้งดงาม ชาวนาเชื่อว่า ข้าวในนาทั้งหมด ก็จะงามตามไปด้วย ส่วนทางภาคเหนือมีประเพณี แฮกนา คือ พิธีปลูกปะรำทำราชวัตรฉัตรธงในพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ ๒ วา ภายในปลูกศาลเพียงตา วางเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวง ทั้งแม่พระธรณี เจ้าที่ท้าวทั้งสี่ และแม่โพสพ เสี่ยงทายว่า ข้าวกล้านาจะดีหรือไม่อย่างไร

ข้าว-ชาวนา พื้นฐานของประเพณีราษฎร์

            แต่สังคมไทยนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมของราษฎร นับแต่โบราณราชประเพณีต่างๆ ล้วนมีความมุ่งหมาย เพื่อความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร์ ดังเช่น พระราชพิธีสิบสองเดือนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น เป็นพระราชพิธีที่กระทำในแต่ละเดือน เพื่ออำนวยความสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม เช่น พระราชพิธีในเดือนหก เป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัล หรือพระราชพิธีแรกนา เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎร ในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร แม้ปัจจุบันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีนี้อยู่ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่อาณาประชาราษฎร์เกษตรกรทั้งหลาย

            นอกจากพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์แล้ว ยังมีพิธีกรรมทางด้านศาสนาที่ประเพณีทั้งสองระดับต่างก็มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ดังเช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ ต่างก็มีรูปแบบการเทศน์ และพิธีกรรมที่สอดคล้องกับธรรมเนียมของท้องถิ่นนั้นๆ ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาตินั้น ปรากฏเป็นพระราชพิธีหลวงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์โปรดให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม เพื่อเป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ ในสมัยรัตนโกสินทร์พระราชพิธีนี้ พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงปฏิบัติสืบทอดต่อมา โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศ ก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

            ในภาคอีสานมีงานบุญพระเวส และมีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น พิธีแห่งพระเวสเข้าเมือง เป็นต้น ส่วนทางภาคเหนือมีประเพณีสร้างหลาบเงิน หรือแผ่นเงินจำหลักเป็นรูปลวดลายต่างๆ แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติ

            ทางด้านวรรณกรรม และศิลปกรรม ขนบประเพณีหลวงและราษฎร์ต่างก็มีความสัมพันธ์กันเช่นกัน เรามีวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวบ้าน และบทพระราชนิพนธ์ เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตของชาวบ้าน ในการขับเสภาก็ใช้กรับที่ชาวบ้านใช้ เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ

พุทธศาสนิกชนเข้าร่วมฟังเทศน์

            ในด้านศิลปกรรมนั้น วัดและช่างฝีมือ มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ ก่อให้เกิดสกุลช่างต่างๆ ขึ้น ผู้ที่มีฝีมือปรากฏเป็นที่ยอมรับนับถือ อาจมีโอกาสได้เป็นช่างหลวง เป็นเกียรติและสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูลของตน

            ความหลากหลายของประเพณีราษฎร์ในท้องถิ่นต่างๆ ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น แต่บูรณาการทางสังคม และวัฒนธรรม จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์มีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีทางด้านการทำมาหากิน ศาสนา วรรณกรรม หรือศิลปกรรม บนพื้นฐานของความสัมพันธ์นี้ สังคมไทยจะมีพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่หลากหลายได้ต่อไปอีกชั่วกาลนาน