เล่มที่ 18
ยาฆ่าแมลง
เล่นเสียงเล่มที่ 18 ยาฆ่าแมลง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ยุงก้นปล่องเป็นตัวนำโรคไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น ทำให้มนุษย์ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยมีคนตายด้วยโรคนี้เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ประมาณ ๓๐๐ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี ไข้เลือดออกก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ซึ่งทุกคนรู้จักกันดี เมื่อเป็นโรคทั้งสองนี้แล้ว อาจถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุม และป้องกันโรคทั้งสองนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการนำดีดีทีมาใช้เป็นยาฆ่ายุง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว การพ่นดีดีทีที่ละลายในน้ำตามฝาผนังของบ้านทุกหลังคาเรือนในพื้นที่ซึ่งมีมาลาเรียชุกชุม สารดีดีทีซึ่งเป็นยาฆ่าแมลง และจะตกค้างอยู่ที่ฝาผนังเป็นเวลานานถึง ๖ เดือน และถึง ๑ ปีก็ได้ เมื่อยุงก้นปล่องบินเข้ามาในบ้านจะเกาะที่ฝาผนังบ้านก่อน แล้วจึงกัดดูดเลือด เมื่ออิ่มแล้วโดยปกตินิสัยยุงจะเกาะที่ฝาผนังบ้าน เพื่อพักผ่อนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะบินออกไป หลังจากนั้นยุงจะตาย ภายใน ๒-๓ วัน เนื่องจากถูกดีดีทีที่ฝาผนังบ้านถึง ๒ ครั้ง ฉะนั้นถึงแม้ว่ายุงนั้นได้ดูดเอาเชื้อไข้มาลาเรียมาแล้ว ก็ไม่สามารถจะแพร่เชื้อต่อไปได้ ทำให้อัตราของการเป็นไข้มาลาเรียลดลงเป็นจำนวนมาก และคนตายน้อยลง เหลือประมาณ ๔-๕ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ นอกจากยุงแล้ว แมลงสาบก็เป็นสัตว์ที่จะต้องกำจัด เพราะเป็นตัวนำโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลายโรคเช่นเดียวกัน

แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๑. ยุงก้นปล่อง  


            ในสมัยโบราณยาฆ่าแมลงที่รดต้นไม้ เพื่อป้องกันมิให้แมลงมาทำอันตราย คือ "โล่ติ๊น" ได้มาจากรากไม้เถาชนิดหนึ่ง เรียกว่า หางไหลแดง (Derris elliptica Benth) โดยหมักไว้ในน้ำ และใช้น้ำราดต้นไม้

แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๒. ยุงลาย 

            ในปัจจุบันได้มีผู้ค้นคว้า และสังเคราะห์ยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลงขึ้นมาใช้เป็นจำนวนหลายชนิดด้วยกัน เห็นได้ว่า ยาประเภทนี้ได้มีวางขายอยู่ตามตลาดทั่วไป มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาเหล่านี้อยู่เสมอ ยาเหล่านี้ได้ใช้แพร่หลาย และมีประโยชน์มากในทางเกษตรกรรม เช่น การปราบศัตรูพืช ในทางสาธารณสุข ใช้ฆ่าแมลงที่เป็นตัวนำของโรคต่างๆ ยาเหล่านี้แม้ว่าจะมีคุณประโยชน์อย่างอนันต์ แต่ก็มีโทษอย่างมหันต์ ถ้าผู้ที่ใช้มิได้มีความระมัดระวัง หรือไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ใช้ก็อาจจะถึงแก่ความตายได้โดยง่าย

แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๓. แมลงสาบ

เคมีภัณฑ์กำจัดแมลงที่แพร่หลาย และใช้กันมากในขณะนี้แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๔ กลุ่ม คือ

ภาชนะเก็บน้ำ ควรปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่

๑.ออร์กะโนคลอรีน (Organo Chlorine)

            เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) คาร์บอน (C) และคลอรีน (CL) เคมีภัณฑ์กลุ่มนี้มีการสลายตัวช้า และพบว่า มีการสะสมอยู่ตามดิน น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างกายของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ที่รู้จักกันดี และใช้กันมากได้แก่ ดีดีที (DDT) ดีลดริน (Dieldrin) อัลดริน (Aldrin) เป็นต้น

ต้นและรากแห้งของต้นหางไหลแดง

๒.ออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate)

            หลังจากที่พบว่า ออร์กะโนคลอรีนมีการสะสม และมีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดมลภาวะแก่ดินและน้ำ การใช้เคมีภัณฑ์กำจัดแมลงจึงได้เปลี่ยนไปใช้พวกสารประกอบที่มีฟอสฟอรัสเป็นตัวหลักมากขึ้น ขณะนี้เป็นยุคที่มีการใช้เคมีภัณฑ์กลุ่มนี้มาก ทั้งในด้านการเกษตร และในวงการสาธารณสุข อาการเป็นพิษเกิดขึ้นได้เร็วกว่า และสลายตัวเร็ว เคมีภัณฑ์ที่ใช้กันมากในกลุ่มนี้ได้แก่ มาลาไธออน (Malathion), เฟนิโทรไธออน, (Fenitrothion), ซูมิไธออน (Sumithion), ไดคลอร์วอส (Dichlorvos) เป็นต้น