เล่มที่ 18
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 18 สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ถ้าเดิน ทางท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย จะเห็นภาพเมืองเก่าๆ อิฐ หิน กำแพง ป้อมปราการ ปรักหักพัง ทั้งบนดิน และใต้ดิน เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง ในพิพิธภัณฑ์หลายจังหวัดมีโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ พร้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เป็นการยืนยันว่า มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในเมืองเหล่านั้น และแต่ละแห่งจะมีลักษณะเฉพาะของตน มีวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นแตกต่างกันไป
สภาพที่เหลือของศาสนสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าสมัยประวัติศาสตร์ดังจะเห็นได้จากที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สภาพที่เหลือของศาสนสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าสมัยประวัติ ศาสตร์
ดังจะเห็นได้จากที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สภาพแวด ล้อมธรรมชาติ มีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของมนุษย์เป็นอันมาก มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดี
            เมื่อเริ่มตั้งหลักแหล่ง มนุษย์จะศึกษาลักษณะภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ ประเทศไทยตั้งอยู่ในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีลมมรสุมพัดผ่านจึงมีฝนตกมากเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน หลังจากนั้นก็จะมีลมมรสุมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้เกิดอากาศแห้งแล้ง และหนาวเย็น ทำให้ประเทศไทยมีเขตชุ่มชื้นตลอดปีกับเขตที่ชุ่มชื้นสลับกับแห้งแล้ง
ตัวอย่างของการทำไร่เลื่อนลอย หักร้างถางป่า เพื่อตั้งถิ่นฐานและทำไร่ดังจะเห็นได้จากที่จังหวัดอุตรดิตถ์
ตัวอย่างของการทำไร่เลื่อนลอย หักร้างถางป่า เพื่อตั้งถิ่นฐานและทำไร่ดังจะเห็นได้จากที่จังหวัดอุตรดิตถ์
            เขตชุ่มชื้นตลอดปี เช่น บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย มีต้นไม้เขียวชอุ่ม เป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ประชาชนที่มาตั้งหลักแหล่งที่นี่ จะจับสัตว์ และเก็บผลไม้ในป่าเป็นอาหารตามธรรมชาติ

            เขตชุ่มชื้นสลับกับแห้งแล้ง เช่น บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นป่าโปร่งทุ่งหญ้า บางแห่งจะแห้งแล้งมาก แต่บริเวณนี้จะมีฝนตกในบางฤดู ปีใดที่มีปริมาณฝนมาก พืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะบริบูรณ์ มนุษย์จึงชอบที่จะอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก นอกจากจะมีพื้นที่กว้างขวางแล้ว ยังหักร้างถางพงได้ง่ายกว่าบริเวณป่าทึบ ทั้งยังสามารถเพาะปลูกพืช เพื่อเก็บไว้กินในภายหน้าได้ด้วย
ผู้ คนซึ่งตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ จะไม่อพยพย้ายถิ่นไปที่อื่น แต่จะตั้งบ้านเรือน ทำมาหากิน มีหลักฐานมั่นคงสืบต่อไปลักษณะของการปรับสภาพทางธรรมชาติของริมฝั่งแม่น้ำ มาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่อการปลูกพืชของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม
ลักษณะของการปรับสภาพทางธรรมชาติของริมฝั่งแม่น้ำ มาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่อการปลูกพืชของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม
            ปัจจัยสำคัญ อีกประการหนึ่งในการตั้งถิ่นฐานคือ ลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งกว้างๆ เป็นบริเวณที่สูง และบริเวณที่ต่ำ

            บริเวณที่สูง คือ บริเวณป่าเขา ไม่มีน้ำพอเพียงสำหรับทำการเพาะปลูก ชาวเขา หรือคนที่มาตั้งหลักแหล่งในบริเวณนี้ จึงมักจะเผาป่า หักร้างถางป่า เพื่อทำไร่ เมื่อทำไประยะหนึ่ง ดินก็จะหมดปุ๋ยตามธรรมชาติ ต้นไม้ไม่งอกงามเท่าเดิม คนพวกนี้ก็ย้ายไปหาถิ่นที่สมบูรณ์ต่อไป

            บริเวณที่ต่ำ คือ บริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา ตามแม่น้ำ และชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่เพาะปลูกได้ผลดี มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้หนาแน่น จากหมู่บ้านกลายเป็นเมืองใหญ่ในปัจจุบัน

            นอกจากสภาพดินฟ้าอากาศ และลักษณะภูมิประเทศแล้ว มนุษย์ยังเลือกตั้งหลักแหล่งในบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น มีแร่ธาตุ เพชร พลอย และน้ำมัน ซึ่งทำให้เกิดอาชีพที่พัฒนาเรื่อยมา จนเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้าไปช่วย ทำให้เป็นอาชีพที่เจริญรุ่งเรืองมาก

            บริเวณที่มนุษย์ตั้งหลักแหล่ง มักเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวก แต่เดิมเส้นทางคมนาคมที่ดีที่สุด คือ ทางน้ำ เพราะเมื่อมีผู้คนมากขึ้น การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าก็จะตามมา จากการติดต่อในหมู่บ้าน ก็เจริญขึ้นเป็นระหว่างเมือง และขยายไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียง และประเทศต่างๆ