เล่มที่ 18
กฎหมายกับสังคมไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 18 กฎหมายกับสังคมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

"ที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย" แปลมาจากภาษาลาตินว่า "Ubi societas, ibijus" หมายความว่า เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ จะต้องมีกฎระเบียบ แต่เดิมกฎระเบียบนั้น กำหนดมาจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนในสังคม คือ เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม และจารีตประเพณีที่ชุมชนนั้น ประพฤติปฏิบัติถ่ายทอดสืบต่อกันมา จนเป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง แต่มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อสังคมนั้นเจริญเติบโตมากขึ้น สภาพของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น สลับซับซ้อน เกินกว่าที่จะตัดสินได้ด้วยจารีตประเพณี จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป เหตุฉะนี้ กฎหมายของสังคมสมัยใหม่ จึงมีสองประเภท ประเภทหนึ่ง คือ เป็นกฎหมายที่อยู่ในรูปของจารีตประเพณี อีกประเภทหนึ่งเป็นกฎหมายที่บันทึกไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร

เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป

            กฎหมายไทยนั้น มีช่วงการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ เพื่อให้เหมาะสมสอดคลองกับสังคม ๔ ช่วง เริ่มต้นตั้งแต่กำเนิดของสังคมไทย จนถึงสมัยสุโขทัย ช่วงนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มาจากจารีตประเพณีดั้งเดิม นับว่า เป็นกฎหมายของไทยแท้ๆ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรามีกฎหมาย ๒ ลักษณะๆ หนึ่ง คือ "คัมภีร์พระธรรมศาสตร์" เป็นกฎหมายแม่บทที่เรารับมาจากอินเดียผ่านทางมอญ อีกลักษณะหนึ่งคือ "ราชศาสตร์" หรือ พระราชวินิจฉัยมูลคดีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ แล้วรวบรวมเป็นกฎหมายพื้นฐานของแผ่นดิน ช่วงที่ ๓ เป็นช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทันสมัย โดยอาศัยแบบอย่างจากตะวันตก โดยเฉพาะในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรม และโรงเรียนกฎหมาย รวมทั้งได้ทรงจัดให้มีการร่างประมวลกฎหมายตามระบบซีวิลลอว์ (CIVIL LAW) จึงทำให้ระบบกฎหมายของไทยทันสมัยมากขึ้น ช่วงสุดท้าย คือ ช่วงที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทของไทยมาจนถึงทุกวันนี้

            ตามหลักพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำแนกอำนาจการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาเป็นผู้ใช้ อำนาจบริหาร คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ และ อำนาจตุลาการ ศาลเป็นผู้ใช้ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรารัฐธรรมนูญ โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงก่อตั้งกระทรวงยุติธรรมและโรงเรียนกฎหมายขึ้น  


กฎหมายไทยมีลำดับชั้น คือ รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายแม่บทต่อไปคือ พระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา ผู้ที่มีอำนาจเสนอพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา คือ คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอผ่านพรรคการเมืองที่สมาชิกผู้นั้นสังกัด กฎหมายสำคัญที่ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติ คือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกเป็นกรณีพิเศษ โดยฝ่ายบริหาร เหตุผลพิเศษที่ฝ่ายบริหารจะออกพระราชกำหนดได้มี ๒ กรณี คือ ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อรักษาความปลอดภัย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือเงินตรา ซึ่งจะต้องพิจารณากันเป็นเรื่องด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระราชกำหนดมีผลบังคับเพียงชั่วคราวเฉพาะเรื่องเท่านั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอขออนุมัติต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป

นอกจากพระราชกำหนดแล้ว ฝ่ายบริหารยังอาจออก "กฎหมายลำดับรอง" ได้ หากรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ กฎหมายลำดับรองที่สำคัญ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  

พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนในสังคม ที่ควรทราบมีดังนี้คือ

พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๙ กำหนดให้หัวหน้าครอบครัวต้องไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ เมื่อมีเด็กเกิดในบ้านภายใ น ๑๕ วัน นับแต่วันที่มีเด็กเกิด เมื่อมีคนตาย ต้องแจ้งภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย การย้ายที่อยู่ ทั้งการย้ายเข้า และย้ายออก ต้องแจ้งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันย้าย

พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

พระราชบัญญัติการรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ กำหนดให้ชายไทยทุกคน เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี ต้องไปแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่อผู้นั้นมีอายุ ๒๑ ปี ต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตน บุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องไปแสดงตัว เพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน ได้แก่ สามเณรซึ่งสอบเปรียญได้แล้ว และบุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการควบคุม หรือคุมขังของเจ้าพนักงาน บุคคลผู้ได้รับการยกเว้นไม่ถูกเรียก แม้ว่าจะไปลงบัญชีทหารกองเกินไว้แล้วก็ตาม ได้แก่ พระภิกษุสามเณร นักบวช ผู้ที่อยู่ระหว่างการฝึกวิชาทหาร ครู และบุคคลที่แปลงสัญชาติเป็นไทย ฯลฯ

การประกาศใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร

กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และ กฎกระทรวง ล้วนเป็นกฎหมายที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศใช้แล้ว ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องรับรู้ จะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีกฎหมายนั้นอยู่ไม่ได้ ส่วน ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ อาจประกาศใช้โดยวิธีอื่นๆ เช่น ประกาศที่อำเภอ หรือเทศบาล

การติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย

องค์กรพิจารณาพิพากษาคดี

ศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ เป็นองค์กรพิจารณาและพิพากษาคดี แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลชั้นต้น พิจารณาคดีในชั้นแรก ในกรุงเทพฯ แยกศาลตามประเภทของคดีเป็น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแขวง ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ศาลภาษีอากร และศาลแรงงาน ส่วนในจังหวัดต่างๆ มีศาลจังหวัด และศาลแขวง บางจังหวัดอาจมีศาลคดีเด็กและเยาวชน และศาลภาษีอากรด้วย อีกชั้นหนึ่งคือ ศาลอุทธรณ์ พิจารณาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นสูงสุดคือ ศาลฎีกา ทำหน้าที่ชี้ขาดเป็นขั้นสุดท้าย เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ หากคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์

หนังสือราชกิจจานุเบกษา

การดำเนินคดี

คดีแพ่ง ผู้ได้รับความเสียหายจะต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลชั้นต้นภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วน คดีอาญา นั้น ผู้ได้รับความเสียหายอาจดำเนินคดีได้ ๒ ทาง คือ ฟ้องต่อศาลโดยตรง เช่นเดียวกับคดีแพ่ง หรือไปร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด