เล่มที่ 18
ระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
เล่นเสียงเล่มที่ 18 ระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            มนุษย์ทุกคนต้องกินอาหาร และใส่เสื้อผ้า สินค้าที่ประกอบเป็นอาหาร เช่น ข้าว เนื้อไก่ และที่เป็นเสื้อผ้า ซึ่งมาจากเส้นใยเรียกรวมว่า เป็นสินค้าเกษตร หรือผลิตผลเกษตร ในสมัยก่อนที่คนยังมีไม่มาก บ้านเมืองยังไม่เจริญเหมือนปัจจุบัน มนุษย์ได้อาหารมา โดยการเก็บจากธรรมชาติ หรือปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง แต่เมื่อมีคนมากขึ้น ความต้องการของมนุษย์ขยายตัวขึ้น มีความต้องการสินค้าต่างๆ มากขึ้น ไม่อาจจะปลูกเองเลี้ยงเองได้ทั้งหมด ก็มีการแลกเปลี่ยนกัน ต่อมาเมื่อมีการใช้เงินตรา จึงมีการซื้อขายกัน ในปัจจุบันครอบครัวในเมืองแทบจะต้องซื้ออาหารทุกชนิด
ตลาดขายผักสด
ตลาดขายผักสด
            ก่อนที่จะเป็นข้าวสารที่บรรจุใส่ถุงไว้เรียบร้อย หรือผักในตลาดสด ซึ่งจัดไว้ให้แลดูสวยงาม ให้อยู่ในรูปที่ไปซื้อมาได้ จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย เช่น ข้าวสารที่ซื้อมา อาจจะมาจากข้าวที่ปลูกโดยเกษตรกร ในจังหวัดสุรินทร์ ผักก็มาจากชาวสวนผัก ในจังหวัดราชบุรี สินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน นอกจากมีระยะทางห่างไกลกันแล้ว ยังต้องการแปรรูป เช่น สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร คัดและตบแต่งสินค้า เช่น คัดก้านใบผักที่เน่าเสีย และดูไม่งาม ล้างน้ำทำความสะอาด นอกจากนี้ จะต้องขนส่งมาเป็นทอดๆ ต้องบรรจุภาชนะใหม่ ต้องเก็บรักษาไว้ เพื่อรอจำหน่าย เรื่องต่างๆ ดังกล่าว มีคนที่เกี่ยวข้องมากมาย ต้องใช้เวลา และต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าขนส่ง ค่าถุงบรรจุข้าวสาร แต่ก็มีความจำเป็น มิฉะนั้นผู้บริโภค ก็ไม่มีความสะดวก ในการซื้ออาหารตามที่ต้องการ และผู้ผลิตเองก็ขายสินค้าได้ยาก กิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการไป เช่น ในการนำข้าวสารจากจังหวัดสุรินทร์ หรือนำผักสดมาจากจังหวัดราชบุรี และพร้อมที่ผู้ซื้อ จะซื้อไปปรุงอาหารได้ เรียกว่า การตลาด

            การตลาดหรือกิจกรรมในการนำสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคของสินค้าแต่ละชนิด จึงต่างกัน ขึ้นอยู่กับความใกล้ไกลระหว่างแหล่งผลิต และผู้บริโภค ขึ้นอยู่กับว่า ต้องแปรรูปมากน้อยแค่ไหน จึงจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และต้องการเก็บรักษาแค่ไหน จึงจะรอขายให้ผู้บริโภค เช่น ข้าวสารในปีหนึ่งๆ ส่วนมากปลูกข้าวครั้งเดียว แต่ผู้บริโภคมีความต้องการคือ ต้องกินข้าวทุกวัน ยิ่งไปกว่านี้ความต้องการของผู้บริโภค ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ในเรื่องของการประกอบอาหาร เมื่อก่อนอาจจะซื้อไก่เป็นตัว ตอนหลังต้องตัดแบ่งเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนบรรจุไว้ในกล่องสวยงาม หรือปรุงไว้เสร็จ ซื้อไปอุ่นรับประทานได้เลย อาหารชนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน
อาหารสำเร็จบรรจุในกล่องสวยงาม เตรียมไว้สำหรับนำไปปรุง
อาหารสำเร็จบรรจุในกล่องสวยงาม เตรียมไว้สำหรับนำไปปรุง
            เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมการตลาด หรือเรียกว่า บริการการตลาดก็ต้องเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนแปลงให้สนองความต้องการของผู้บริโภคได้ นอกเหนือจากการขนส่ง และแปรรูปง่ายๆ จะต้องมีการบรรจุกล่อง มีการเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม กิจกรรมดังกล่าว จะต้องมีคนทำหน้าที่ และต้องมีค่าใช้จ่าย เรียกว่า เป็นค่าใชจ่ายในการตลาด และจะรวมอยู่ในราคาสินค้า ที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภค ดังนั้น เวลาผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสินค้า เช่น ซื้อข้าวสาร เงินที่จ่ายไปส่วนหนึ่ง จึงเป็นค่าขนส่ง ค่าสีข้าว ค่าบรรจุถุง ค่าน้ำ ค่าไฟของร้านค้า กำไรของโรงสี กำไรของร้านขายปลีก และรวมทั้งจ่ายค่าข้าวเปลือก ให้กับชาวนาด้วย

            การตลาดทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้อสินค้ามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตอาจจะได้รับราคาต่ำกว่าที่ควร เพราะต้องจ่ายส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ในการทำหน้าที่การตลาด และเป็นกำไรของผู้ที่ทำหน้าที่ ซึ่งเรียกว่า เป็นคนกลาง
 ผักคะน้าเป็นผลิตผลทางการเกษตร
ผักคะน้าเป็นผลิตผลทางการเกษตร
            เราจะตัดคนกลางออก โดยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตไม่ได้ เหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ผลิต และผู้บริโภค อยู่ห่างไกลกัน มิใช่จะอยู่คนละจังหวัด แต่บางทีอยู่คนละประเทศ จะไปติดต่อซื้อขายกันโดยตรงไม่ได้ สินค้าบางชนิดซื้อมาแล้ว ก็บริโภคไม่ได้ เช่น ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ซื้อหมูทั้งตัวจากผู้เลี้ยงหมู ต้องเอาไปจ้างสี ต้องเอาไปจ้างฆ่า คงจะเสียเวลาทำงานประจำ และในทางปฏิบัติแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ การตลาดจึงมีความจำเป็น ถ้าไม่มีตลาด เช่น ไม่มีคนไปซื้อสินค้า ผู้ผลิตก็ไม่ทราบว่า จะผลิตไปทำไม ผลิตขึ้นมาก็ขายไม่ได้

            สิ่งที่ควรจะต้องทำก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้การตลาด ตั้งแต่นำสินค้าจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า ระบบตลาด ได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ขายสินค้าให้กับผู้บริโภค ในเวลาที่ต้องการ และสินค้ามีคุณภาพดี คุ้มกับเงินที่ผู้บริโภคจ่าย และผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนคุ้มกับเงินลงทุน
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนำนมสดมายังจุดรวบรวมเพื่อนำไปแปรรูปเป็นนมสดพร้อมดื่ม
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนำนมสดมายังจุดรวบรวมเพื่อนำไปแปรรูปเป็นนมสดพร้อมดื่ม