เล่มที่ 18
การแต่งกายของคนไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 18 การแต่งกายของคนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การแต่งกายของคนไทยนั้น โดยปกติเมื่ออยู่บ้านจะแต่งกายเรียบง่าย เมื่อไปงานพิธี หรือไปปฏิบัติราชการ ก็แต่งกายอีกแบบ หนึ่ง

            เสื้อผ้าที่สวมอยู่กับบ้านเป็นผ้าฝ้ายธรรมดา ในสมัยโบราณผู้ชายอาจนุ่งกางเกงมีผ้าคาดเอว หรือผ้าพาดไหล่ ไม่นิยมสวมเสื้อ เพราะอากาศร้อน ถ้าอากาศหนาวก็สวมเสื้อ หรือห่มผ้า เมื่อออกไปทำไร่ไถนา ก็สวมเสื้อผ้าสีดำ หรือสีน้ำเงิน นุ่งกางเกง สวมเสื้อแขนสั้น ผู้หญิงเมื่ออยู่บ้านอาจใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน และสวมใส่สบายง่ายๆ แต่ถ้าออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ใช้เสื้อผ้าสีดำหรือน้ำเงิน 

            เมื่อไปงานพิธี เช่น ทำบุญตักบาตร ก็จะแต่งกายเรียบร้อยรัดกุม ผู้ชายสวมเสื้อ นุ่งกางเกง ใช้ผ้าที่มีราคา หรือสวยงามมากขึ้น ผู้หญิงก็ใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน มีเครื่องประดับตามฐานะ ที่เป็นข้าราชการนั้น มีเสื้อผ้าชนิดดีตามตำแหน่ง หรือตามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งผิดจากคนทั่วไป เพราะเครื่องแต่งกายของข้าราชการนั้น อาจบอกยศหรือตำแหน่งได้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายไว้ว่า "ธรรมเนียมลำดับยศฝ่ายสยามมีสังเกตอยู่ ๓ อย่าง ด้วยหมวก เสื้อ และเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง ด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างหนึ่ง ด้วยศักดินาคือ อำนาจที่จะหวงที่ดินเป็นไร่นาของตัวอย่างหนึ่ง"

ผ้าสมปัก


            เสื้อและเครื่องนุ่งห่มของข้าราชการนั้น ไม่พบหลักฐานว่า ในสมัยโบราณมีการกำหนดลำดับยศที่จะใช้เสื้อผ้าไว้เช่นใด แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ขุนนางข้าราชการจะนุ่งผ้าสมปัก ในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"ย่านท่าทรายมีร้านชำขายผ้าสมปักเชิงปูม ผ้าไหม ผ้าลายกรุษราช ย่ำมะหวาด สมปักเชิง สมปักล่องจวน สมปักริ้ว เมื่อข้าราชการทำหาย ไม่ทันจะหามาเปลี่ยน ก็ต้องซื้อนุ่งเข้าเฝ้า"

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

            แสดงว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาข้าราชการต้องนุ่งผ้าสมปักเข้าเฝ้า มีเรื่องกล่าวกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียว ไม่รู้จักเปลี่ยน จนคุณพุ่ม กวีหญิงสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๕ ได้แต่งเป็นทำนองคำอธิษฐานไว้ข้อหนึ่งว่า "ขออย่าเป็นสมปักของพระนายไวย" 

            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายถึงผ้าสมปักไว้ในหนังสือ "บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ" ตอนหนึ่งว่า "เป็นผ้าทอด้วยไหมเพลาะกลาง พื้นผ้าเป็นสีเป็นลายต่างๆ ใช้ตามยศตามเหล่า มีสมปักปูมเป็นสูงสุด และสมปักริ้วเป็นต่ำสุด" และอีกตอนหนึ่งว่า "ผ้าสมปักนั้นเป็นสองชนิด คือ ผ้าสมปักลายสำหรับนุ่งเต็มยศชนิดหนึ่ง กับผ้าสมปักไหวสำหรับนุ่งเข้าเฝ้าเวลาปกติชนิดหนึ่ง...อันผ้าสมปักไหมนั้น เขาไม่นุ่งกันมาแต่บ้านมิได้ เขามานุ่งกันเอาในพระราชวัง เวลาเตรียมตัวจะเข้าเฝ้า ออกจากเฝ้าแล้วก็ผลัด เห็นจะเพื่อรักษาไม่ให้ทรุดโทรมไปเสียเร็ว เห็นจะเป็นของหายาก ส่วนผ้าสมปักลายนั้น เห็นเรียกแต่ในหมาย ดูที่เขานุ่งกันจริงเขาก็นุ่งผ้าชนิดที่เรียกว่า เกี้ยวลาย จนทำให้ เข้าใจไปว่า ผ้าสมปักลายกับผ้าเกี้ยวลายเป็นผ้าชนิดเดียวกัน จนกระทั่งเรียกของเก่าที่คลังในมาดู เผอิญมีผ้าลายติดออกมาด้วยผืนหนึ่ง มีขนาดกว้างยาวเท่ากับสมปักไหมและเพลาะกลางเหมือนสมปักไหม จึงได้เข้าใจว่า ผ้าสมปักลายนั้นต่างหาก แต่นุ่งแล้วดูก็คงเหมือนกับเกี้ยวลาย เขาจึงนุ่งเกี้ยวลายแทน สมปักลายจริงๆ เห็นจะหานุ่งยาก...แต่สมปักลายจะถือลายเป็นชั้นยศอย่างไรหรือไม่ ฉันไม่ทราบ เกิดไม่ทันเวลาที่เขาใช้กัน แต่เชื่อว่า จะไม่มีกำหนด เพราะเอาผ้าเกี้ยวใช้นุ่งแทน ก็ไม่เห็นเลือกกันที่ว่าใครจะต้องนุ่งลายชนิดไร"

ผ้าไหมไทย

            ดังนี้ จะเห็นว่า ชนิดของผ้ามีความสำคัญมากกว่ารูปแบบของเสื้อ ซึ่งคงจะมีรูปทรงคล้ายๆ กัน และในสมัยโบราณนั้น เมื่อข้าราชการมีความดีความชอบ ก็จะได้รับพระราชทานเสื้ออย่างดี หรือผ้านุ่งเป็นรางวัล ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อผลประโยชน์แผ่นดินไม่พอจ่าย ไม่อาจจ่ายเบี้ยหวัดให้ข้าราชตามอัตราได้ ก็จ่ายผ้าให้แทน อย่างในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเงินไม่พอจ่าย ก็ต้องเอาสินค้าที่มีอยู่ในพระคลัง เช่น ผ้าลาย ออกพระราชทานเป็นเบี้ยหวัดก็มี สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ยังเคยปรากฏว่า ได้พระราชทานรางวัลพวกแสดงละครด้วยผ้าลาย คือ ผ้านุ่งโจงกระเบน ซึ่งนิยมนุ่งกันอยู่ในสมัยนั้น

            การแต่งกายของคนไทยในสมัยโบราณไม่มีแบบมากนัก แต่จะกล่าวถึงเรื่องสีและชนิดของผ้ามากกว่า คนธรรมดาทั่วๆ ไปก็ใช้ผ้าที่ทอใช้เอง ผู้ที่มีฐานะดี หรือเป็นข้าราชการ มีผ้าที่มีราคาใช้ ผ้าอย่างดีจะมาจากต่างประเทศ