เล่มที่ 18
ภาษาและอักษรไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 18 ภาษาและอักษรไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ภาษาเขียนทำให้มนุษย์จดบันทึกเก็บสะสมเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้ ทำให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ถึงความคิดของคนรุ่นก่อนได้ สามารถคิดเรื่องสืบต่อจากคนที่คิดไว้ก่อนแล้วได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นคิดใหม่ทั้งหมด ภาษาเขียนทำให้มนุษย์สามารถสร้างความเจริญให้สังคมได้มากมาย ทำให้เกิดอารยธรรม และความเจริญต่างๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ การที่เรามีการศึกษาขั้นสูง การประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ การเดินทางไปในอวกาศ และทำเรื่องยากๆ ต่างๆ ได้มากมายนั้น ก็เพราะอาศัยภาษาเขียนเป็นเครื่องมือช่วยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีภาษาเขียน มนุษย์เราคงจะพัฒนามาถึงจุดนี้ไม่ได้ 

สิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยภาษาเขียนเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการศึกษาขั้นสูง  

            สังคมของคนไทย หรือคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดประจำกลุ่ม หรือสังคม ไม่ใช่มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีอยู่ในประเทศลาว เวียดนาม อินเดีย จีน กัมพูชา และมาเลเซียด้วย ในประเทศไทยเราใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ประเทศลาวใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไทยแต่เรียกว่า ภาษาลาว ส่วนในประเทศอื่นๆ นั้น ภาษาไทยเป็นภาษาของคนกลุ่มน้อย เพราะคนที่พูดภาษาไทยในประเทศเหล่านั้น มีจำนวนน้อย บางกลุ่มก็เรียกตนเองว่า เป็นคนไต บางกลุ่มก็ไม่ใช้คำว่า ไตหรือไทยเรียก แต่ที่เราทราบได้ว่า ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาไทย ก็เพราะภาษาเหล่านี้ทุกภาษา มีคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน

            คำพื้นฐาน หมายความว่า เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในสังคมแบบโบราณ แต่ยังใช้อยู่ถึงในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คำว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง ข้าว หู ตา น้ำ ฝน บ้าน กิน มา นั่ง ลง ใส่ หนึ่ง สอง ร้อน งู กล้วย อ้อย ฯลฯ คำเหล่านี้เป็นมรดกทางภาษา ที่คนไทยกลุ่มต่างๆ รับทอดมาจากสังคมไทยสมัยโบราณ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ และเนื่องจากคนไทยแยกย้ายกันอยู่ ภาษาจึงต่างกันไป เพราะภาษาต่างๆ ล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และสภาพแวดล้อม เหมือนกับสังคม และคนที่พูดภาษานั้นๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ลายสือไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


            แม้แต่ในประเทศไทยด้วยกันเอง ภาษาไทยของคนในถิ่นต่างๆ ก็ยังต่างกันไป ทั้งการออกเสียงต่างกัน และใช้คำศัพท์หลายคำที่ต่างกันไป ตามสภาพสังคม และที่ตั้ง ภาษาในภาคต่างๆ ของประเทศ มีเสียงและสำเนียงที่ต่างกัน ภาษาของกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชาวมาเลเซีย ก็มีคำภาษามาเลย์ใช้บ้าง กลุ่มที่อยู่ใกล้ชาวกัมพูชา ก็มีคำจากภาษาเขมรใช้บ้าง กลุ่มที่มีโอกาสได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ ก็มีคำภาษาอังกฤษใช้บ้าง เป็นต้น

            อักษรไทย หรือภาษาเขียน ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวเขียนที่พัฒนาสืบทอดมาจาก ลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันอยู่เป็นเมือง มีเมืองเป็นของตนเอง และมีการปกครองตนเองเรียบร้อยแล้ว ในยุคนั้นการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์ลงบนแผ่นศิลา นับเป็นประเพณีนิยมที่กระทำกันทั่วไป กษัตริย์ขอม กษัตริย์พม่า กษัตริย์มอญ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรใกล้เคียงกับไทย ต่างก็มีจารึกเกี่ยวกับเรื่องราวของกษัตริย์ เช่น เรื่องพระนามของกษัตริย์ เมื่อขึ้นครองราชย์ การทำนุบำรุงศาสนา และเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองที่สำคัญ ทั้งเขมรและพม่าล้วนแต่มีการจารึกเหตุการณ์ไว้ด้วยตัวอักษรของตนเองแล้วทั้งสิ้น การจารึกก็ใช้ทั้งภาษาของตนเอง ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ก่อนที่คนไทยจะมีภาษาเขียนของตนเอง คงจะใช้ตัวอักษรขอม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนกันอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมืองเป็นของตนเอง มีการปกครองตนเองแล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอักษรเป็นภาษาของตนเองไว้เขียน เพื่อให้แตกต่าง และมีฐานะทัดเทียมกับชนชาติอื่นที่อยู่รอบด้าน พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย จึงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีอักษรของตัวเองไว้ใช้

            ภาษาเขียนของไทยแตกต่างไปจากภาษาอื่นๆ ที่มีใช้อยู่ในขณะนั้น คือ นอกจาก มีตัวอักษร พยัญชนะ และสระแล้ว ยังมีเครื่องหมายกำกับแสดงเสียงวรรณยุกต์อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งต่างจากภาษาบาลี ภาษามอญ และเขมร ที่ไม่ใช้เสียงวรรณยุกต์ในภาษา

            ตัวอักษร หรือพยัญชนะ ที่ประดิษฐ์ขึ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมี ๔๔ ตัว ในปัจจุบันเราไม่ได้ใช้ ๒ ตัว คือ "ฃ" กับ "ฅ" พยัญชนะ ๒ ตัวนี้ ใช้แทนเสียงไทยโบราณ ๒ เสียง ซึ่งในปัจจุบันนี้เราไม่ใช้แล้ว เสียง "ฃ" ได้กลายรวมเป็นเสียงเดียวกับ "ข" และ "ฅ" กลายเป็นเสียงเดียวกับ "ค" ทำให้เราแยกไม่ออกว่า เสียงใดเคยเขียนด้วยตัว "ฃ" หรือตัว "ฅ" เราจึงไม่ได้ใช้อักษร ๒ ตัวนี้ นอกจากนี้ตัวอักษรในสมัยสุโขทัย ทั้งพยัญชนะ สระ และ เครื่องหมายวรรณยุกต์ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากตัวอักษร ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมาก ทั้งนี้ เพราะการเขียน หรือการจารึกลงบนแผ่นศิลา เป็นวิธีเขียนที่แตกต่างไปจากการเขียนด้วยมือ ลงบนแผ่นกระดาษมาก ตัวเขียนในปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนในสมัยอยุธยามากกว่า ในสมัยนั้นมีการเรียนการสอนภาษาไทย มีตำราสอนที่รู้จักกันทั่วไป คือ จินดามณี นอกจากนั้นคน ในสมัยอยุธยายังนิยมแต่งโคลงกลอนกัน ผู้คนจึงคงมีโอกาสเขียนหนังสือมากกว่าในสมัยสุโขทัย และการมีโอกาสเขียน ทำให้เกิดมีลักษณะลายมือการเขียนขึ้น ในปัจจุบัน นอกจากการเขียนด้วยมือแล้ว เรายังมีเครื่องพิมพ์ พิมพ์ดีด และคอมพิวเตอร์อีกด้วย ซึ่งทำให้เรามีลักษณะตัวอักษรที่แตกต่างไปอีก

            ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีของแต่ละยุค ทั้งตัวภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทย และสังคมไทยได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง และใช้บ่งบอกถึงความเป็นคนไทย และสังคมไทย ได้ทุกยุคทุกสมัย คือ การใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรไทย