เล่มที่ 39
เรือไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 39 เรือไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิวัฒนาการของเรือไทย

ชาวสยามหรือคนไทยในสมัยก่อน มักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน คนไทยจึงมีความผูกพันกับสายน้ำ และมีภูมิปัญญาในการคิดประดิษฐ์เรือแบบต่างๆ ขึ้นใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวสยามมีการใช้เรือเป็นที่พักอาศัย หรือเป็นพาหนะในการเดินทางและค้าขาย ตลอดจนใช้ลำเลียงทหารและอาวุธในยามมีศึกสงคราม ต่อมา เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายกับชาวสยามมากขึ้น จึงมีการสร้างเรือสำเภาขึ้นเพื่อบรรทุกสินค้าของสยามไปขายยังต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มมีเรือสำเภาขนาดใหญ่ของชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกับชาวสยาม มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รัชกาลที่ ๔ ต้องทรงเปิดประเทศ ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษเป็นประเทศแรก และต่อมา ก็ทำสนธิสัญญากับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เป็นเหตุให้วัฒนธรรมและความรู้ทางตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ อย่างรวดเร็ว ประเทศสยามเริ่มพัฒนาประเทศตามแบบชาวตะวันตกหลายด้าน โดยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงส่งพระราชโอรส ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง

ประเทศสยามมีความก้าวหน้าทางด้านการค้าขายทางเรือ มีการต่อเรือกลไฟขึ้นใช้ และสามารถต่อเรือสำเภาแบบทันสมัย ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ รวมทั้งมีการนำเรือยนต์และเรือกลไฟขนาดเล็กมาใช้ในลำน้ำมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงซื้อเรือรบ ที่ทันสมัยจากประเทศอังกฤษมาประจำการ ชื่อว่า เรือหลวงพระร่วง ทำให้การทหารเรือมีความก้าวหน้าทันสมัยมาก ต่อมา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กิจการเรือโดยสารและการคมนาคมทางน้ำต้องหยุดชะงักลง หลังจากสงครามสิ้นสุด ประเทศไทยก็เริ่มพัฒนาประเทศอย่างมีแบบแผน เกิดการพัฒนาด้านการคมนาคมทางบกอย่างมาก ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ และรถไฟกันมาก ส่งผลให้การคมนาคมทางน้ำใช้เรือลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อการคมนาคมทางบก และทางอากาศมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ประเทศต่างๆ เริ่มประสบปัญหาการจราจร และปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์และยานพาหนะต่างๆ อาจทำให้การคมนาคมทางน้ำ โดยการใช้เรือได้รับความนิยมดังเช่นในอดีต


เรือหลวงพระร่วง

ประเภทของเรือไทย

เรือพื้นบ้านของไทยมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เรือขุด และเรือต่อ

เรือขุด

เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ซุงทั้งต้น ที่มีลำต้นตรง ไม่มีโพรง ไม่แตกร้าว โดยนำไม้ซุงดังกล่าวมาขุดเซาะเนื้อไม้ออกให้เป็นร่อง และขยายความกว้างของลำเรือออก เพื่อให้มีพื้นที่ในเรือมากขึ้น มีการเสริมกงด้านในท้องเรือ และปูพื้นกระทงที่นั่งในเรือ ด้วยไม้กระดาน อาจทำหลังคาคลุมเรือด้วย เรือขุดมีหลายชนิด มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เรือชะล่า เรือโปง เรือม่วง เรือหมู เรือมาด เรือสามก้าว เรือยาว เรือพระราชพิธีต่างๆ


เรือมาดเก๋ง

เรือต่อ

เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ โดยใช้ไม้กระดานมาประกอบกันเป็นลำเรือ อาจมีหลังคาคลุมเพื่อกันแดดกันฝน เรือต่อแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทตามการใช้งาน คือ

๑. เรือต่อขนาดเล็กใช้พาย เช่น เรือสำปั้น เรือบด เรือเข็ม เรือแตะ เรือป๊าบ เรือจู๊ด เรือผีหลอก
๒. เรือต่อขนาดใหญ่ใช้แจวในการขับเคลื่อน สำหรับบรรทุกสินค้า หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊น เรือข้างกระดาน เรือมอ เรือฉลอม เรือสำเภา
๓. เรือต่อใช้เครื่องยนต์ เช่น เรือเมล์ เรือแท็กซี่ เรือหางยาว เรือกลไฟ


เรือสำปั้นจ้าง

การต่อเรือ

วัสดุจำเป็นที่ใช้ในการต่อเรือ คือ ไม้ ในอดีต ไม้ที่นิยมนำมาใช้ต่อเรือ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ไม้ยมหอม ไม้เคี่ยม ไม้พะยูง และไม้แสมสาร ต่อมาเมื่อทรัพยากรป่าไม้เริ่มมีปัญหา หรือมีน้อยลงไปเรื่อยๆ จึงได้มีการนำวัสดุอื่นๆ มาใช้ทดแทน เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก พลาสติก ผ้าเคลือบยาง หนังสัตว์ ไฟเบอร์กลาสส์


การขัดแต่งเปลือกเรือให้เรียบ
ก่อนทาน้ำมันให้สวยงาม

ในการต่อเรือจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสม โดยทั่วไป เครื่องมือที่ใช้กันมากก็มีค้อน ผึ่งถากไม้ ขวาน เลื่อย กบไสไม้ คีม สิ่ว รางบรรทัด ลูกดิ่ง ระดับน้ำหรือปรอท เป็นต้น