สบู่ดำคืออะไร
สบู่ดำเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน คำว่า "พืชน้ำมัน" แต่เดิมหมายถึง พืชที่เราสามารถสกัดเอาน้ำมันออกมา เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค แต่น้ำมันจากสบู่ดำใช้เป็นอาหารไม่ได้ เนื่องจากมีสารพิษบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สบู่ดำจึงเป็นพืชที่ปลูกเพื่อใช้เป็นพลังงานเท่านั้น
สบู่ดำเป็นไม้พุ่ม ต้นสูงปานกลาง เมื่อโตเต็มที่อาจสูงได้ถึง ๖ เมตร มีอายุกว่า ๒๐ ปี ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ดอกสบู่ดำมีสีเขียวอ่อน ผลสบู่ดำเมื่อยังอ่อนอยู่มีสีเขียว เมื่อเริ่มแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและน้ำตาล เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อเริ่มแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ แต่ละผลมี ๒-๓ เมล็ด
สบู่ดำในประเทศไทย
สบู่ดำไม่ใช่พืชพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย แต่เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกากลาง แถบประเทศเม็กซิโก ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นผู้นำสบู่ดำ เข้ามาในประเทศไทยเมื่อกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว โดยให้ชาวบ้านนำเมล็ดสบู่ดำไปปลูกและขายให้แก่ชาวโปรตุเกส เพื่อทำเป็นสบู่ และน้ำมันตะเกียง จากนั้นสบู่ดำก็ได้แพร่กระจายพันธุ์ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท ของไทยในปัจจุบัน
พันธุ์สบู่ดำในประเทศไทย
ปัจจุบันมี ๓ สายพันธุ์ คือ
๑. สายพันธุ์กลุ่มเอเชีย ประกอบด้วย สายพันธุ์จากประเทศไทย เมียนมาร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ให้ผลผลิตเมล็ดไม่เกิน ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
๒. สายพันธุ์กลุ่มเม็กซิโก เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าจากเขตพื้นที่ต่างๆ ของประเทศเม็กซิโก ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับสายพันธุ์ กลุ่มเอเชีย
๓. สายพันธุ์ลูกผสม เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในเอเชียกับสายพันธุ์กลุ่มเม็กซิโก สายพันธุ์ลูกผสมให้ผลผลิตสูงกว่า ๒ สายพันธุ์ข้างต้น โดยให้ผลผลิตเมล็ดประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
การปลูกและการดูแลรักษา
การเตรียมแปลงปลูกสบู่ดำ
พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสบู่ดำ คือ ดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี เพราะต้นสบู่ดำไม่ทนทานต่อสภาวะน้ำท่วมขัง และอาจตายได้
สายพันธุ์เอเชีย
เมื่อเลือกพื้นที่สำหรับปลูกได้แล้ว การเตรียมแปลงสำหรับปลูกทำได้โดยการไถพรวนดินและยกร่อง เริ่มด้วยการไถหน้าดิน เพื่อให้ดินร่วน แล้วยกแปลงกว้างประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒๕-๓๐ เซนติเมตร และขุดหลุมกลางสันร่อง ขนาด กว้าง××ยาว×ลึกประมาณ ๒๕×๒๕×๒๕ เซนติเมตร สำหรับนำต้นกล้าพันธุ์ลงปลูก
สายพันธุ์เม็กซิโก
การเตรียมต้นกล้าพันธุ์
การเตรียมต้นกล้าพันธุ์สบู่ดำอาจทำได้โดยใช้ทั้งเมล็ดและกิ่งปักชำ เมื่อนำเมล็ดสบู่ดำมาเพาะในวัสดุเพาะ ซึ่งเป็นส่วนผสมของแกลบดำ ขุยมะพร้าว และดินในอัตราส่วน ๑ : ๑ : ๒ เมล็ดจะงอกภายใน ๗-๑๐ วัน หลังจากนั้นประมาณ ๑๐-๑๕ วันจึงย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะชำขนาด ๔×๖ นิ้ว วัสดุเพาะชำภายในถุงเป็นส่วนผสมของแกลบดำ ขุยมะพร้าว และดิน ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ ๒ เดือน จึงย้ายลงปลูกในแปลงได้
สายพันธุ์ลูกผสม
การเตรียมต้นกล้าโดยการปักชำ โดยการคัดเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร นำไปปักในถุงเพาะชำที่มีส่วนผสมของแกลบดำ ขุยมะพร้าว และทรายในอัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑ ให้ลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร นำไปอนุบาล ในโรงเรือนเพาะชำ จากนั้นสามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เมื่ออายุ ๕๕-๗๐ วัน หลังการปักชำ
การปลูกต้นกล้าลงในแปลง
การปลูกต้นสบู่ดำลงในแปลง ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนนำต้นกล้าลงปลูก และควรปลูกในช่วงฤดูฝน เพราะต้นกล้าจะสามารถฟื้นตัวได้ดี นอกจากนี้ ควรให้น้ำและปุ๋ยเป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้ต้นสบู่ดำเริ่มให้ผลผลิตได้ เมื่ออายุ ประมาณ ๖ เดือน
ต้นสบู่ดำอายุ ๑ - ๒ เดือน
การเก็บเกี่ยว
เมื่อต้นสบู่ดำทยอยให้ผลผลิต อาจเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกๆ ๒ สัปดาห์ โดยใช้มือปลิดผลที่มีสีเหลืองและน้ำตาล นำมาผึ่งแดดให้แห้งประมาณ ๓-๕ วัน จากนั้นกะเทาะเปลือกออก เพื่อนำเมล็ดไปหีบเอาน้ำมันต่อไป
การเก็บเกี่ยวสบู่ดำ
การนำสบู่ดำไปใช้ประโยชน์
สบู่ดำเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว โดยให้ผลผลิตหลังจากปลูกภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี สบู่ดำมีประโยชน์ดังนี้
ด้านพลังงาน
- เมล็ดที่เก็บเกี่ยวแล้ว เมื่อนำไปหีบจะได้น้ำมันที่เป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลสำหรับใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป หรือนำน้ำมันไปกรองหรือตกตะกอนให้ใส สำหรับใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถอีแต๋น รถไถเดินตาม
- ลำต้นและกิ่งก้านที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งของสบู่ดำ สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ หรือนำไปเผาผลิตเป็นถ่าน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือนได้อย่างดี
- กากสบู่ดำที่เหลือจากการหีบน้ำมัน เมื่อนำมาหมักรวมกับเปลือกของผลและใบสบู่ดำในสภาพไร้อากาศ จะได้แก๊สมีเทน ซึ่งอาจใช้ในการหุงต้ม หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับปั่น
ไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนก็ได้
กากที่ได้หลังจากการหีบน้ำมันออกจากเมล็ด
ด้านอื่นๆ
- นอกจากประโยชน์ในด้านพลังงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยางสบู่ดำยังสามารถใช้เป็นสีย้อม ยาระบาย และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ในชนบท ของประเทศไทยและอีกหลายประเทศ มีผู้ใช้ยางสบู่ดำรักษาแผล ที่เกิดจากอาการปากนกกระจอกอีกด้วย