คนในสมัยโบราณมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำ จึงมักสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง หรือแหล่งน้ำต่างๆ และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อน ได้แสดงให้เห็นถึงแหล่งอารยธรรมของโลก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำต่างๆ เช่น แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรติส แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ รวมไปถึงแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำโขง ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพ คนในสมัยก่อนที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ กระจายไปตามลุ่มแม่น้ำน้อยใหญ่ เพื่ออาศัยน้ำ ในการดำรงชีวิต ทำการเกษตรและกสิกรรม เนื่องจากแหล่งธรรมชาติดังกล่าวมีน้ำที่ใสสะอาด ไม่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งยังมีเพียงพอให้มนุษย์นำน้ำไปใช้ โดยไม่ต้องมีระบบการทำความสะอาดน้ำนั้นแต่อย่างใด
ประวัติการใช้น้ำของคนไทย
สมัยสุโขทัย
เมื่อชาติไทยเริ่มตั้งอาณาจักรในสมัยสุโขทัย มีแหล่งน้ำสายสำคัญคือ น้ำแม่รำพัน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมืองสุโขทัย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบราบรื่น ชุมชนเจริญเติบโตแผ่ขยายในพื้นที่ราบ มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ความจำเป็นต้องใช้น้ำทำให้เกิดระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้และดื่มกิน ทำให้ชาวเมืองสุโขทัยสามารถตั้งถิ่นฐานอยู่ได้อย่างถาวร โดยไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำ
วิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ของชาวเมืองสุโขทัย มีหลายวิธี คือ
๑. สร้างตระพังรับน้ำ
ให้เรียงลดหลั่นกันจากที่สูงลงที่ต่ำ เมื่อตระพังที่ ๑ เต็ม น้ำก็จะไหลมาลงตระพังที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ตามลำดับ ภายในตัวเมืองสุโขทัยมีตระพังรับน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น ตระพังเงิน ตระพังตระกวน ตระพังโพยสี\\
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศ ใช้ในการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศที่น้ำไหลผ่าน
๒. สร้างทำนบ (สรีดภงส์)
ได้มีการขุดแต่งบูรณะตระพังให้มีระดับสูงกว่าตัวเมืองเพื่อกันน้ำไว้ และสามารถระบายเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองตามคลอง และไหลเข้าสู่ตระพังต่างๆ มีการทำอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวเมืองสุโขทัยสามารถรักษาน้ำสะอาด ตามธรรมชาติ ให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ไม่ไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างไร้ประโยชน์ จึงมีน้ำกินและน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน เมื่อเก็บน้ำไว้ได้เพียงพอแล้ว จึงระบายออกนอกเมืองสู่ท้องไร่ท้องนาอีกชั้นหนึ่ง
๓. สร้างบ่อน้ำ
เพื่อรับน้ำที่ซึมมาจากตระพังต่างๆ ภายในตัวเมือง ซึ่งจะพบบ่อน้ำนี้จำนวนมากบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงสุโขทัย
๔. ทำท่อส่งน้ำ
เป็นท่อดินเผาเคลือบ ใช้เพื่อกรองน้ำสะอาด เป็นปากท่อกว้าง ปลายสอบเข้า ยาวประมาณ ๑๑๐ เซนติเมตร เมื่อดินหรือโคลน ไหลเข้าไปในท่อ จะตกตะกอนอยู่ในท่อ มีแต่น้ำสะอาดที่จะไหลออกมา นอกจากนั้นยังสร้างบ่อที่ก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลงอยู่ทั่วไป เพื่อกรองน้ำที่มาจากสระหรือตระพังต่างๆ ให้สะอาดยิ่งขึ้นสำหรับใช้ดื่มกิน แสดงถึงการเริ่มรู้จักวิธีกรองน้ำให้สะอาด โดยผ่านท่อ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสาธารณูปโภคด้านการบริการน้ำให้แก่ประชาชนเป็นสมัยแรก
สมัยอยุธยาและราชธานีละโว้
สมัยนี้มีการกักเก็บน้ำโดยทำเป็นทำนบขังน้ำและอ่างเก็บน้ำ และยังขุดดินที่อยู่ตอนหน้าพระราชวังไปถมพื้นที่สร้างเมือง กลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ และใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ เรียกว่า บึงพระราม
บึงพระราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นอ่างเก็บน้ำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ระบบประปาในราชธานีละโว้ถือเป็นจุดกำเนิดการประปาในราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเมืองละโว้ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม แต่อยู่ห่างไกลน้ำ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นความลำบากของประชาชนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ โปรดให้ชาวอิตาลี คือ บาทหลวงโทมัสโซ วัลกูอาร์เนรา (Thomasso Valguarnera) และบาทหลวงดาโกลี (Dagoli) ดำเนินการขุดทำนบกั้นน้ำในทะเลชุบศร สร้างเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดปี และวางท่อดินเผาจากทะเลชุบศรผ่านปากจั่น (ประตูน้ำในสมัยนั้น) มาสู่สระแก้ว ซึ่งเป็นที่พักน้ำแหล่งที่ ๑ และมีท่อเชื่อมโยงจากสระแก้วไปสู่ที่พักน้ำแหล่งที่ ๒ จากที่พักน้ำแหล่งที่ ๒ จะมีท่อขนาดใหญ่มุ่งเข้าสู่เมืองลพบุรี บริเวณพื้นมีท่อน้ำดินเผาฝังอยู่จำนวนมาก เพื่อจ่ายน้ำให้อาคาร และพระที่นั่งต่างๆ ทั่วเขตพระราชฐานได้มีน้ำใช้ รวมทั้งบ้านหลวงรับราชทูต วัด และศาสนสถานของคริสต์ศาสนา ตลอดจนบ้านเรือนของขุนนาง
ระบบการกักเก็บ
และการจ่ายน้ำประปาในอดีต
การส่งน้ำตามท่อแบ่งเป็น ๒ ช่วงใหญ่ คือ ช่วงแรก เป็นลำรางส่งน้ำ ที่ใช้ดินอัดแน่นเป็นรูปตัวยู ให้น้ำไหลจากแหล่งกำเนิด ไปตามผิวดิน เป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตร ช่วงที่ ๒ ฝังท่อน้ำดินเผา ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน การจัดทำระบบส่งน้ำสะอาด ในราชธานีละโว้นี้เอง นับเป็นจุดกำเนิด ของกิจการประปาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการทำระบบน้ำประปา ครั้งแรกในประเทศไทย
สมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อมีการสถาปนาราชวงศ์จักรี และย้ายราชธานี มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบส่งน้ำ ยังใช้ระบบท่อดินเผา เช่นเดียวกับสมัยราชธานีละโว้ จนกระทั่งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพบหลักฐาน การสร้างเครื่องจักร และถังสูง สำหรับกักเก็บน้ำจากแม่น้ำ แล้วฝังท่อเข้าไปในพระราชวัง
การใช้น้ำของประชาชน มักเก็บน้ำฝนไว้ประจำบ้านสำหรับดื่มกินและปรุงอาหาร ส่วนน้ำใช้ก็ยังคงใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีระยะทางยาวไกล และมีประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ริมน้ำหรือริมคลอง ทำให้มีการถ่ายเทของเสียและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีระบบทำน้ำให้สะอาดไว้สำหรับบริโภค กลายเป็นบ่อเกิด ของโรคภัยไข้เจ็บและเกิดปัญหาโรคระบาดทางน้ำ เช่น อหิวาตกโรค (สมัยก่อนเรียกว่า โรคห่า) ซึ่งระบาดอย่างรุนแรง สมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงกับต้องละทิ้งบ้านเรือน เพราะกลัวโรคติดต่อ
ก๊อกน้ำสาธารณะในอดีต ที่เรียกว่า "โซดาดึง"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ หลังจากการเสด็จฯ กลับจากการเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป จึงทรงริเริ่มระบบประปาขึ้น โดยจ้างช่างจากประเทศฝรั่งเศสมาช่วยดูแล กิจการน้ำประปาจึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และสำเร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวฝรั่งเศสที่เคยดูแลกิจการน้ำประปากลับประเทศไปหมด การประปาเริ่มทรุดโทรมลง จึงได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน