เล่มที่ 39
เพลงกล่อมเด็ก
เล่นเสียงเล่มที่ 39 เพลงกล่อมเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            แต่เดิมมา เด็กไทยสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่มาตั้งแต่แรกเกิด ภาษาไทยมีคำที่แสดงถึงวิธีการดูแลเด็ก เช่น อุ้มชู ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู ไกวเปลเห่กล่อม เด็กน้อยที่นอนเปลรู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อมีแม่อยู่ใกล้ๆ ฟังเสียงแม่ร้องเพลงช้าๆ เปลแกว่งไปมาเบาๆ จนเคลิ้มหลับไป บางครั้งแม่อุ้มลูกน้อยนอนตัก หรือกอดไว้แนบอก โยกตัวไปมา ก็อาจเปล่งเสียงเอื้อน เป็นทำนองสูงต่ำ เกิดเป็นการขับขานคำคล้องจอง เพลงบางบททำให้นึกถึงภาพสัตว์เลี้ยงแสนรัก ที่เป็นเพลงกล่อม ซึ่งรู้จักกันแพร่หลาย คือ "...โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ อ้ายหมาหางงอ กอดคอโยกเยก..." ต่อมา แม่ใช้เวลากล่อมนานขึ้น อีกทั้งคนไทยมีความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงมีเพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อหามากขึ้น และมีทำนองเพลงกล่อมที่ฟังเพลิน

            เพลงกล่อมเด็กของไทยแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน และเพลงกล่อมเด็กของหลวงหรือเพลงกล่อมเด็กราชสำนัก

            เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

            เพลงกล่อมเด็กประเภทแรกนี้ ชาวบ้านแต่งขึ้นเอง ใช้ร้องแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ มีเนื้อร้อง ทำนอง และสำเนียง แตกต่างกันไปบ้างตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ นิทาน เรื่องเล่า ความเชื่อ เพลงบางบท เป็นการเปรียบเทียบ สอน ชม หรือแสดงความรัก ต่อลูกน้อยของตนเอง

            ลักษณะทั่วไปของเพลงกล่อมเด็กชาวบ้านนั้น เป็นเพลงพื้นบ้าน มีฉันทลักษณ์ไม่ตายตัว เนื้อเพลงใช้ภาษาง่ายๆ และมีถ้อยคำสัมผัสคล้องจองกันเป็นวรรคสั้นๆ ความยาวประมาณ ๔-๑๐ วรรค จำนวนคำวรรคละ ๔-๖ คำ ผู้ใดฟังแล้ว สามารถจำและร้องต่อๆ กันได้ เนื้อหาในเพลงไม่ซับซ้อน เป็นบทกล่อม บทปลอบ และบทร้องเล่น นิยมแต่งเป็นเรื่องราว เกี่ยวกับสัตว์ กิริยาอาการต่างๆ ของผู้คนในบ้าน ลมฟ้าอากาศ เลือกเฉพาะที่เด็กฟังแล้วเข้าใจ


ในสังคมชนบทยังคงพบเห็นญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยกันเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งมีอยู่น้อยมากในสังคมเมือง

            ทำนองเพลงกล่อมเด็กนั้น ฟังแล้วเย็นใจ เอื้อนเสียงช้า เพื่อให้เด็กฟังเพลินจนหลับ เนื้อร้องและทำนองเพลงกล่อมเด็ก ของชาวบ้านได้แสดงวิธีการเลี้ยงเด็กอ่อนและเด็กเล็กของคนไทย ที่ใช้เวลาอยู่กับเด็ก ดูแลใกล้ชิด แสดงความรักทะนุถนอม เพลงกล่อมเด็ก จึงมีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กอย่างมาก ส่วนเนื้อหามักเกี่ยวกับธรรมชาติ ดอกไม้ ดวงจันทร์ และเรื่องเล่าจากนิทาน หรือตำนานต่างๆ ในท้องถิ่น เมื่อเด็กพอจะจับใจความได้ ก็จะรู้จัก และมีความรู้สึกผูกพันต่อบุคคล และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

            เพลงกล่อมเด็กบางเพลงมีลักษณะเป็นการสั่งสอนอบรมให้เด็กประพฤติดี หรือตักเตือนให้เด็กว่านอนสอนง่าย ไม่ร้องไห้โยเย เด็กจึงได้รับการปลูกฝังคุณค่าความดีงามตั้งแต่ยังเยาว์ เพลงกล่อมเด็กจึงเป็นสมบัติทางภาษาและวัฒนธรรมที่มีค่า สมควรที่คนรุ่นหลังพึงรักษาไว้

            เพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านภาคต่างๆ

            ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เพลงกล่อมเด็กในแต่ละท้องถิ่น แม้จะมีเนื้อหาและทำนองคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อมีภาษาถิ่น และวิถีชีวิตแตกต่างกัน จึงมีลักษณะเฉพาะในเนื้อหาของเพลงแตกต่างกันในแต่ละภาคด้วย


สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก ๔ ภาค

            เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง

            ส่วนใหญ่มีเนื้อหาสั้นๆ ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายและคล้องจองกัน ใจความคล้ายการสนทนากับเด็ก หรือเล่าเรื่องต่างๆ แทรกการสอนให้ประพฤติดี ใช้คำเรียกเด็กเปรียบกับสิ่งที่มีค่า แสดงถึงความรักของแม่ เช่น ทองคำ ขวัญข้าว เจ้าเนื้อเย็น ทูนหัว เพลงบางบทใช้ชื่อนกเรียกขานแทนชื่อเด็กด้วย

            เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ

            มีลักษณะเป็นเพลงกล่อม เพลงปลอบ และเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเล่นของเด็ก ใช้คำขึ้นต้นบทเพลงตามเสียงเอื้อน เป็นภาษาถิ่นทางเหนือ เช่น อื่อ จา จา สิกจุ่งจา ฝนตกสุยสุย

            เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

            มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพลงกล่อมลูก เนื้อหาถ่ายทอดความรัก สอดแทรกด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการทำมาหากิน ทำนองเรียบง่าย ร้องด้วยจังหวะช้าๆ กล่อมให้นอน ใช้ภาษาอีสานบรรยายความ มักขึ้นต้นด้วย "นอนสาหล่า" "นอนสาเด้อ" คือ บอกให้ลูกนอนนั่นเอง
            
            เพลงกล่อมเด็กภาคใต้

            หรือบางครั้งเรียกว่า เพลงชาเรือ มีลักษณะเป็นกลอนพื้นบ้าน ๑ บทมี ๘ วรรค ๑ วรรคมี ๘-๑๐ คำ ใช้คำคล้องจองกัน แต่ไม่เคร่งสัมผัสมากนัก เกริ่นนำวรรคแรกด้วยคำว่า "ฮา เอ้อ" ท้ายวรรคลงคำว่า "เหอ" เนื้อหาเป็นคำสอนให้เป็นเด็กดี เช่นกัน

            เพลงกล่อมเด็กของหลวง หรือเพลงกล่อมเด็กราชสำนัก 

            เพลงกล่อมเด็กอีกประเภทหนึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในพระราชพิธีทำขวัญเมื่อพระราชโอรส หรือพระราชธิดามีพระชนมายุครบ ๑ เดือน เรียกว่า "พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่" ผู้แต่งบทเห่กล่อมพระบรรทมเป็นกวีของราชสำนัก เป็นบทกล่อม ที่ร้อยกรองตามฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัด แต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกลอนสุภาพ ใช้ถ้อยคำที่ไพเราะ เลือกสรร ให้สอดคล้องกับทำนองที่ใช้เห่กล่อม ซึ่งอาจเป็นทำนองสรภัญญะ หรือเพลงไทยเดิม

            ผู้ที่ร้องเพลงกล่อมพระบรรทมเป็นพระพี่เลี้ยงนางนม หรือข้าหลวง ไม่ใช่แม่หรือญาติผู้ใหญ่ดังผู้ร้องเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน จึงต้องเข้าใจศัพท์ในบทเพลงที่ร้อยเรียงอย่างประณีตตามฉันทลักษณ์ รู้เรื่องราชาศัพท์และสาระในวรรณคดีที่นำมาแต่ง ซึ่งมีความยาวกว่าบทเห่กล่อมธรรมดา เพลงกล่อมเด็กของหลวงจึงเป็นเพลงที่ขับขานเฉพาะในพระราชพิธีเท่านั้น

            เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวไทยก็แตกต่างจากเดิม การเลี้ยงดูทารกด้วยการขับกล่อม ให้ลูกน้อยนอนเปลเริ่มเห็นได้ยาก อาจพบได้บ้างในชุมชนที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ยังมีสถาบันทางการศึกษา และวัฒนธรรมหลายแห่งที่จัดงานทางวิชาการ นิทรรศการ มีการสาธิต และเผยแพร่ความไพเราะของเพลงกล่อมเด็ก สืบต่อคุณค่า ของภาษาและวัฒนธรรมไทยแก่คนไทยรุ่นต่อไป