โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากคนที่เป็นโรค ไปแพร่กระจายให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป การแพร่กระจายของโรคเกิดจากยุงก้นปล่องไปกัดและดูดเลือดจากคนที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ในร่างกาย เชื้อมาลาเรียก็จะไปเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงตัวนั้นไปกัดและดูดเลือดคนอื่นๆ ก็จะถ่ายเชื้อมาลาเรียให้แก่คนที่ถูกยุงกัด ทำให้เชื้อมาลาเรียแพร่กระจายออกไปได้เรื่อยๆ จนในที่สุดอาจมีการระบาดของโรคได้อย่างกว้างขวาง
โรคมาลาเรียมีชื่อเรียกกันเป็นหลายชื่อในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย ชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ โรคไข้จับสั่น เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีไข้หนาวสั่นเป็นระยะๆ ส่วนชื่ออื่นๆ เป็นชื่อที่เรียกกันในบางท้องถิ่น ได้แก่ โรคไข้ป่า โรคไข้ดอกสัก โรคไข้ป้าง
เหตุที่เรียกยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียว่า ยุงก้นปล่อง นั้น เนื่องจากยุงชนิดนี้ เมื่อเกาะที่ผิวหนังคน เพื่อกัดและดูดเลือด จะยกส่วนก้นชี้ตั้งขึ้นคล้ายปล่อง ซึ่งแตกต่างจากยุงธรรมดา และภายในร่างกายของยุง มีส่วนที่เชื้อมาลาเรียสามารถเจริญเติบโต จนเป็นเชื้อที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ หากยุงตัวนั้นไปกัดคน ที่น่าสังเกตคือ ยุงก้นปล่องที่กัดและดูดเลือดคน เป็นยุงเพศเมียเท่านั้น
เชื้อมาลาเรียมีอยู่หลายชนิด และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน การรักษาโรคมาลาเรียให้ได้ผลดีจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยว่า เป็นเชื้อชนิดใดก่อน จึงจะสามารถให้ยาที่เหมาะสมกับเชื้อชนิดนั้นๆ ผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อมาลาเรีย เช่น มีไข้หลังออกจากป่า ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคมาลาเรียหรือไม่ และเป็นเชื้อชนิดใด แพทย์จะได้ให้ยารักษาที่ถูกต้อง
ลำธารในป่า เป็นแหล่งวางไข่ของยุงก้นปล่อง
การระบาดของโรคมาลาเรียมีมากในเขตร้อนของทวีปต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา รวมทั้งประเทศไทย ในสมัยก่อนโรคมาลาเรียเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรในประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรณรงค์ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย ไม่ให้แพร่กระจายมาก แต่ก็ยังคงมีอยู่ในบางท้องถิ่น เช่น ตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศไทย บริเวณพื้นที่ป่าดง บริเวณที่ติดกับแหล่งน้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่อง
โรคมาลาเรียมีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง หากเป็นชนิดไม่รุนแรงจะรักษาได้ง่ายกว่าชนิดรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยไม่ถึงกับเสียชีวิต ที่ควรระวังมากคือ การเกิดโรคมาลาเรียในหญิงมีครรภ์จะทำให้แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น ทารกตายขณะคลอด น้ำหนักแรกคลอดน้อย หรือเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วก็อาจได้รับเชื้อมาลาเรียจากแม่ ทำให้มีอาการของโรคได้
หน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย ได้แก่ มาลาเรียคลินิก สถานีอนามัย และโรงพยาบาล สถานที่เหล่านี้ มีบุคลากรสาธารณสุขและเครื่องมือที่จะทำการตรวจวินิจฉัย ตลอดจนการให้ยารักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
หน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย
วิธีที่ดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรค ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อีกทั้งไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย การป้องกันไม่ให้เป็นโรคทำได้หลายวิธี เช่น ไม่เดินทางเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย บริเวณที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำในป่าควรพ่นสารเคมี เพื่อกำจัดยุง หรือกางมุ้งนอนโดยเฉพาะมุ้งที่ชุบสารเคมีฆ่ายุง สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด ดูแลสถานที่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของยุงโดยถางวัชพืชริมน้ำ เลี้ยงปลากินลูกน้ำ เพื่อกำจัดการแพร่พันธุ์ของยุง
การควบคุมโรคมาลาเรียไม่ให้ระบาด นอกจากจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ควรจะร่วมมีบทบาทด้วย เพราะหากประชาชนมีวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว การควบคุมโรคก็จะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น