เล่มที่ 36
ละครชาตรี
เล่นเสียงเล่มที่ 36 ละครชาตรี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมาของละครชาตรี

            ละครชาตรีเป็นละครรำของไทยประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้และละครนอกของภาคกลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ  บุนนาค) ยกทัพลงไประงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ ซึ่งเวลานั้นเกิดฝนแล้ง ราษฎรอดอยาก ชาวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จึงพากันอพยพติดตามกองทัพ เข้ามายังกรุงเทพฯ และตั้งบ้านเรือนซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณถนนหลานหลวง นักแสดงโนราที่ติดตามมาด้วยก็ตั้งเป็นคณะขึ้น รับจ้างแสดงในที่ต่างๆ จนเป็นที่นิยม โดยเฉพาะใช้แสดงแก้บน เนื่องจาก เป็นสิ่งแปลกใหม่ และยังมีการใช้คาถาอาคม ทำให้ดูขลังยิ่งขึ้น ต่อมา คณะโนราได้ปรับการแสดงให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมในกรุงเทพฯ โดยนำศิลปะของละครนอกมาผสมผสาน เช่น บทละคร ดนตรี การรำ การแต่งกาย และพัฒนารูปแบบมาเป็นละครสำหรับใช้แสดงแก้บนที่บ้าน วัด หรือเทวสถาน ดังที่เห็นในปัจจุบัน 


การแสดงละครชาตรีของเยาวชนที่สนใจและฝึกฝนศิลปะการแสดงแขนงนี้

            ตัวละครชาตรีมี ๔ กลุ่ม คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวอิจฉา และตัวตลก สำหรับตัวพระ ตัวนาง และตัวอิจฉาใช้ผู้หญิงแสดง โดยแต่งกายเหมือนแบบละครนอก ส่วนตัวตลกใช้ผู้ชายแสดง และแต่งกายแบบชาวบ้าน วิธีแสดงละครชาตรีคือ ต้นบทตะโกนบอกบทเป็นท่อนๆ ให้ผู้แสดงร้องรำไปตามบท สำหรับโรงละครชาตรีมีเสื่อปูบนพื้นดินขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ด้านหนึ่งวางตั่งที่นั่งแสดงได้ ๓-๔ คน โดยหันหน้าไปทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแสดงแก้บนถวาย ด้านข้างของโรงทั้ง ๒ ด้าน เป็นที่นั่งพักของผู้แสดง ซึ่งทำหน้าที่เป็นลูกคู่ช่วยร้องรับและตีกรับ ส่วนวงปี่พาทย์ตั้งอยู่ด้านขวาของผู้แสดง


การแสดงละครชาตรี

การแสดงละครชาตรีแก้บนเต็มรูปแบบแบ่งเป็น ๓ ส่วน

            ส่วนที่ ๑ พิธีกรรม เริ่มเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. เป็นพิธีกรรมต่างๆ ก่อนเริ่มการแสดง คือ พิธีทำโรง บูชาครู โหมโรง ร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รำถวายมือ ประกาศโรง และรำซัดชาตรี ส่วนที่ ๒ การแสดงละคร ต่อจากพิธีกรรมในภาคเช้า จบด้วยพิธีลาเครื่องสังเวย แล้วพักเที่ยง จากนั้นในเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. ก็โหมโรงดนตรี แล้วแสดงละครต่อ จนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. จึงปิดการแสดง และจบลงด้วย ส่วนที่ ๓  พิธีลาโรง   


            ละครชาตรีนำเค้าโครงบทละครนอกมาแต่งเป็นสำนวนพื้นบ้าน เมื่อผู้แสดงร้องกลอนไปตามบทแล้ว ปี่พาทย์ก็บรรเลงรับ พร้อมกับผู้แสดงเจรจาร้อยแก้วทวนบทเป็นสำนวนภาษาท้องถิ่นให้เข้าใจยิ่งขึ้น เนื่องจากละครชาตรีเป็นการแสดงถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้จัดแสดงจึงไม่ค่อยคำนึงว่า จะมีคนดูมากหรือน้อย คนดูที่นั่งดูอยู่เป็นเวลานานมักเป็นสตรีสูงวัย และเด็กๆ ที่สนุกสนานไปกับมุขตลก
            ปัจจุบันมีละครชาตรีแก้บนแสดงประจำอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมือง และศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี และตามวัดสำคัญในจังหวัดทางภาคกลาง การแสดงแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ การรำเป็นชุด เช่น ระบำเทพบันเทิง และการแสดงละคร การแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิมยังมีอยู่บ้าง เช่น คณะนายพูน  เรืองนนท์ ที่ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ และคณะละครชาตรีที่จังหวัดเพชรบุรีหลายคณะ