ในยุคหิน มีการค้นพบภาพบนผนังถ้ำ เป็นภาพหมูป่าที่มี ๘ ขา ซึ่งเป็นความพยายามของมนุษย์ในยุคนั้น ที่ต้องการจำลองภาพการเคลื่อนไหวของหมูป่า อาจถือได้ว่า เป็นการคิดค้นการทำภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “แอนิเมชัน”
หลังจากยุคหินเป็นต้นมา มนุษย์ได้พัฒนาวิธีการทำการ์ตูนมาโดยตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๕๗ วินเซอร์ แมกเคย์ ศิลปินชาวอเมริกัน ก็ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันขนาดสั้น เรื่อง “เจอร์ที เดอะไดโนเสาร์” ซึ่งนับเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องแรก ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จนทำให้นายทุนทั้งหลาย เริ่มสนใจธุรกิจการผลิตแอนิเมชัน เทคโนโลยีในการผลิตแอนิเมชันจึงได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้นเอง ต่อมา ในยุคที่อุตสาหกรรมแอนิเมชันกำลังก่อตัวขึ้น มีนักวาดการ์ตูนเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งในนั้น เป็นนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงที่สุด คนหนึ่งของโลก และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ซึ่งมีความสามารถทั้งด้านการทำแอนิเมชัน และการบริหารจัดการด้านธุรกิจ จนในที่สุดก็สามารถก่อตั้งสตูดิโอตามชื่อของเขา และสร้างแอนิเมชันที่โด่งดังมากมาย อย่างที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้
วอลต์ ดิสนีย์
วีรบุรุษวงการแอนิเมชันไทย
ความจริงแล้ว อุตสาหกรรมแอนิเมชันเกิดขึ้นในประเทศไทย ก่อนประเทศญี่ปุ่น และบุคคลสำคัญที่ริเริ่มสร้างสรรค์งานแอนิเมชัน ในประเทศไทย ก็คือ อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งสามารถผลิตผลงานภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันไทย เรื่องแรกได้สำเร็จ ในชื่อเรื่องว่า “เหตุมหัศจรรย์” เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันขนาดสั้น ที่มีความยาว ๑๒ นาที นำออกฉายครั้งแรก ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากนั้น อาจารย์ปยุตก็ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันขนาดสั้นต่อมาอีก ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “หนุมานเผชิญภัย” และ “เด็กกับหมี”
อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง
ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ อาจารย์ปยุตได้เริ่มต้นทุ่มเทเวลาทั้งหมด เพื่อผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของไทย แม้จะขาดเงินทุนและขาดการสนับสนุน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท ของอาจารย์ปยุต ในที่สุด ผลงานภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันไทยเรื่อง “สุดสาคร” ก็ได้ออกฉาย ใน พ.ศ. ๒๕๒๒
หลังจากนั้น อาจารย์ปยุตจำเป็นต้องยุติการผลิตผลงานการ์ตูน เนื่องจากดวงตาข้างซ้ายสูญเสียการมองเห็นจากการทำงานหนัก อย่างไรก็ตาม ผลงานของท่านก็ยังเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้แก่ผู้ทำงานในวงการการ์ตูนไทยมาโดยตลอด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๑ มูลนิธิหนังไทยได้มีการเชิดชูเกียรติของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง โดยการตั้งชื่อรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ด้านแอนิเมชันว่า “รางวัล ปยุต เงากระจ่าง” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน และทุกปี มีการจัดประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ของประเทศไทย จึงนับได้ว่า ท่านเป็น “วีรบุรุษวงการแอนิเมชันไทย”
หนังสือ "คือชีวิต คือปยุต คือ Animation" ที่รวบรวมประวัติและผลงานการ์ตูนของ อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง
บทบาทของแอนิเมชันในสังคมไทยปัจจุบัน
ปัจจุบันแอนิเมชันได้เข้ามามีบทบาทในวงการต่างๆ เช่น วงการภาพยนตร์ โดยนอกจากจะมีภาพยนตร์ของชาวต่างชาติ ที่ผลิตในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชันแล้ว ภาพยนตร์การ์ตูนของไทยก็เป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น เรื่อง “ก้านกล้วย” ซึ่งเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันแบบสามมิติเรื่องแรกของไทย ซึ่งได้จัดทำออกฉายแล้วหลายภาค เนื่องจาก ได้รับความชื่นชมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “นางนาค” แต่อาจไม่ได้รับความนิยมมากนัก
ภาพยนต์การ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง "สุดสาคร" ผลงานอันทรงคุณค่าของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง
นอกจากนี้แล้ว แอนิเมชันยังแพร่หลายในวงการโฆษณา ดังที่เราได้เห็นภาพยนตร์โฆษณาสินค้าหลายอย่าง จัดทำในรูปแบบแอนิเมชัน