"หัตถกรรมพื้นบ้าน" เป็นประยุกต์ศิลป์ หรือศิลปะ ที่มีประโยชน์ใช้สอยประเภทหนึ่ง ที่ชาวบ้านธรรมดาเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นผู้สร้างเครื่องมือ ภาชนะ สำหรับใช้เองในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังมีหัตถกรรมพื้นบ้านอยู่อีกสองลักษณะคือ งานหัตถกรรมที่ชาวบ้านสร้างขึ้น เพื่อสนองความต้องการของคนในอีกระดับหนึ่ง หรืออีกสังคมหนึ่งคือ ขุนนาง ข้าราชการ และพระมหากษัตริย์ และลักษณะสุดท้ายคือ งานหัตถกรรมที่สร้างขึ้น เพื่อสนองความเชื่อของตนในพิธีกรรมต่างๆ และในพระศาสนา ในที่นี้ ผู้เขียนใคร่จะขอกล่าวถึงแต่งานหัตถกรรม ที่ชาวบ้านสร้างขึ้น เพื่อใช้สอยเอง และใช้ในระหว่างชาวบ้านด้วยกันเท่านั้น
คนโท ภาชนะดินเผาชนิดหนึ่ง
หัตถกรรมดังกล่าวนี้มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งจะขอกล่าวตามลักษณะของวัสดุ และเทคนิคการทำ อันมีอยู่ทั้งสิ้น ๙ ชนิดด้วยกัน คือ
๑. เครื่องไม้
๒. เครื่องจักสาน
๓. เครื่องดิน
๔. เครื่องทอ (เครื่องผ้า)
๕. เครื่องรัก
๖. เครื่องโลหะ
๗. เครื่องหนัง
๘. เครื่องกระดาษ
๙. เครื่องหิน
หัตถกรรมชนิดต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวบ้านสร้างขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ของตนเอง เป็นส่วนมาก และมิได้นำไปผสมกับวัตถุเทียมอื่นใดเลย แต่พอมาถึงปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีส่วนทำให้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการนำเอาวัสดุเทียม มาใช้ประกอบในการทำงานหัตถกรรม อย่างไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งนับว่า เป็นการลดคุณค่าทางสุนทรียภาพของหัตถกรรมพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนี้บังเกิดขึ้นเสมอมา จึงสมควรที่เราจะต้องทำการอนุรักษ์เอาไว้ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่สามารถจะทำได้