เครื่องทอ
เครื่องทอที่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ทอเสื่อ และทอผ้า ซึ่งมีความแตกต่างกันที่วัสดุเท่านั้น ส่วนกรรมวิธีการทำนั้น คล้ายคลึงกันมาก ยกเว้นในการทอเสื่อนั้น ไม่สามารถจะทอคนเดียวได้ ต้องมีคนอีกคนหนึ่งคอยทำหน้าที่ส่งต้นกกให้คนทอ วัสดุที่ใช้ทอเสื่อกันเป็นส่วนใหญ่ คือ ต้นกกเหลี่ยม และต้นกกกลม เพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่าย เสื่อกกนี้นิยมทำกันทุกภาค แต่ที่ทำกันมากที่สุด คือ ที่จังหวัดจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา หูกทอเสื่อมีลักษณะคล้ายกับหูกทอผ้า แต่เตี้ยกว่ากันมาก จนคนทอไม่ต้องนั่งม้าทอ แต่ต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนหูกเลย การทอไม่สะดวกเท่าทอผ้า หูกอันหนึ่งๆ เขาทำเชือกขวางกลางเป็นโครงยาว พอที่จะทอเสื่อ ได้ ๑ คู่หรือ ๒ ผืน การวัดขนาด วัดกันตามความกว้างเป็นคืบ ขนาดเล็กกว้างสี่คืบ ขนาดใหญ่กว้างแปดคืบ ชนิดของเสื่อจะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกกว่า มีเส้นละเอียดเท่ากันหรือไม่ ตามธรรมดา เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว ก็จะเริ่มปลูกต้นกกกันต่อไป กกที่ตัดแล้วนำมาขายนั้น ยังใช้ทอเสื่อไม่ได้ ต้องนำมาแช่น้ำเสียก่อนหนึ่งคืน ต่อจากนั้นก็เอาไปย้อมสี ผึ่งแดด หรือผึ่งลมให้แห้ง แล้วจึงเอาไปทอได้เลย
ผ้ายก ผ้าไหมชนิดหนึ่ง
ที่ทอยกเป็นดอกให้เป็นลายเด่นขึ้น
ส่วนผ้านั้น ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยทั่วไปมีอยู่สองลักษณะคือ ผ้าพื้น และผ้าลาย ผ้าพื้น ได้แก่ ผ้าที่ทอเป็นสีพื้นธรรมดา ไม่มีลวดลาย ใช้สีตามความนิยม ในสมัยโบราณ สีที่นิยมทอกัน คือ สีน้ำเงิน สีกรมท่า และสีเทา ส่วนผ้าลายนั้น เป็นผ้าที่มีการประดิษฐ์ลวดลาย หรือดอกดวงเพิ่มขึ้น เพื่อความงดงาม มีชื่อเรียกเฉพาะตามวิธี เช่น ถ้าใช้ทอ (เป็นลายหรือดอก) ก็เรียกว่า ผ้ายก ถ้าทอด้วยเส้นด้ายคนละสีกับสีพื้น เป็นลายขวาง และตาหมากรุกเรียกว่า ลายตาโถง ถ้าใช้เขียนหรือพิมพ์จากแท่งแม่พิมพ์ โดยใช้มือกด ก็เรียกว่า ผ้าพิมพ์ หรือผ้าลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลาย ที่คนไทยเขียนลวดลายเป็นตัวอย่างส่งไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ เช่น อินเดีย
ผ้าเขียนลาย ส่วนมากเขียนลายทอง แต่เดิมชาวบ้านรู้จักทอแต่ผ้าพื้น (คือ ผ้าทอพื้นเรียบ ไม่ยกดอก และมีลวดลาย) ส่วนผ้าลาย (หรือผ้ายก) นั้น เพิ่งมารู้จักทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างการทอมาจากแขกเมืองไทรบุรี ซึ่งถูกเจ้าเมืองนครกวาดต้อนมา เมื่อครั้งที่เมืองไทรบุรีคิดขบถ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๔ อย่างไรก็ตาม ผ้าทั้งสองประเภทนี้ ใช้วิธีการทอด้วยกันทั้งสิ้น วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทอคือ ฝ้าย ไหม และขนสัตว์ (แต่ส่วนมากจะใช้ฝ้ายและไหม) ชาวบ้านจะปลูกฝ้ายเป็นพืชไร่ และเลี้ยงไหมกัน ฤดูที่ปลูกฝ้ายกัน คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งกินเวลาถึง ๖ เดือน ต้นฝ้ายจึงจะแก่ เมื่อเก็บฝ้ายมาแล้ว จึงนำมาปั่นและกรอให้เป็นเส้น ม้วนเป็นหลอด เพื่อที่จะนำไปเข้าหูก สำหรับทอต่อไป ชาวบ้านรู้จักทอผ้าขึ้นใช้เอง หรือสำหรับแลกเปลี่ยนกับเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นจะต้องใช้ภายในครอบครัว การทอนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว ไม่มีใครทราบว่า มีมาแต่เมื่อไร และได้แบบอย่างมาจากใคร ถ้าจะพิจารณาดูตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ในสมัยศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓) ชาวบ้านคงรู้จักการทอผ้าแล้ว เพราะว่าในสมัยนั้น เป็นสมัยที่ได้มีการติดต่อการค้า และรับเอาศิลปะ และวัฒนธรรมมาจากชนชาติที่เจริญกว่า เช่น จีน อินเดีย อาหรับ และเปอร์เซีย ชนต่างชาติดังกล่าวคงได้มาถ่ายทอดไว้
ไหมที่ย้อมสีแล้ว
การทอผ้านี้มีอยู่ในทุกภาคของประเทศ หลักการ และวิธีการนั้น คล้ายคลึงกันทั้งหมด แต่อาจมีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันบ้าง การทอนี้ทำด้วยมือโดยตลอด ใช้เครื่องมือเครื่องใช้แบบง่ายๆ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญ และความประณีต นับตั้งแต่การเตรียมเส้น การย้อมสี และการทอเป็นผืน เครื่องมือทอผ้าเรียกว่า "กี่" มี ๒ ชนิด คือ กี่ยก กับกี่ฝัง กี่ยกเป็นเครื่องมือที่ยกเคลื่อนที่ได้ ใช้ตั้งบนพื้น ถอดและประกอบได้ง่าย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีขนาดเท่ากับกี่ฝัง แต่ทำตั้งสูงกว่า เพื่อให้เท้าถีบกระตุกด้ายในเวลาทอผ้า สะดวกไม่ติดพื้น ส่วนกี่ฝังคือ เครื่องทอผ้าที่ ใช้เสาปักฝังลงดินยึดอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ สร้างกันไว้ตามใต้ถุนบ้าน เป็นเครื่องทอผ้าชนิดที่นิยมใช้กันมาก
การทอผ้า
การทอผ้าที่ชาวบ้านทำกันนั้น ต้องอาศัยความจำ และความชำนาญเป็นหลัก เพราะไม่มีเขียนบอกไว้เป็นตำรา นอกจากนี้แล้ว ยังพยายามรักษารูปแบบ และวิธีการเอาไว้อย่างเคร่งครัด จึงนับว่า เป็นการอนุรักษ์ศิลปกรรมแขนงนี้ไว้อีกด้วย
ผ้าพื้นบ้านที่นิยมใช้กันมี ๒ ประเภท คือ
๑. ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรียกกันว่า ผ้าพื้นนั้น ไม่มีความประณีต และสวยงามเท่าใดนัก แต่มีความทนทาน ทอขึ้นอย่างง่ายๆ มีสีและ ลวดลายบ้าง เช่น ผ้าพื้น ผ้าตาโถง ผ้าโสร่ง ผ้า แถบ ผ้าซิ่น และผ้าขาวม้า ซึ่งชาวบ้านนิยมใช้ติดตัวมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏอยู่ในหลักศิลา จารึกหลักที่ ๔๔ แห่งแผ่นดินสมเด็จพระบรม ราชาธิราชที่ ๑ (พ.ศ. ๑๙๑๖)
๒. ผ้าที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น ทำบุญ ฟ้อนรำ แต่งงาน หรือเทศกาลต่างๆ ในสังคมไทย สมัยก่อนถือว่า การทอผ้า เป็นงานของผู้หญิง เพราะต้องใช้ความประณีต และละเอียดอ่อน ใช้เวลานาน กว่าจะทอผ้าชนิดนี้เสร็จแต่ละผืน ผู้หญิงซึ่งในสมัยนั้น ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนอยู่แล้ว จึงมีโอกาสทอผ้ามากกว่าผู้ชาย อีกประการหนึ่ง ค่านิยมของสมัยนั้น ยกย่องผู้หญิงที่ทอผ้าเก่ง เพราะเมื่อโตเป็นสาวแล้ว จะต้องแต่งงาน มีครอบครัวไปนั้น ผู้หญิงจะต้องเตรียมผ้าผ่อน สำหรับออกเรือน ถ้าผู้หญิงคนใดทอผ้าไม่เป็น หรือไม่เก่ง ก็จะถูกตำหนิ ชายหนุ่มจะไม่สนใจ เพราะถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะเป็น แม่บ้าน เมื่อมีงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ชาวบ้านจะพากันแต่งตัวด้วยผ้าทอเป็นพิเศษ ไปอวดประชันกัน ผ้าชนิดนี้จะทอขึ้นด้วยฝีมือประณีต เช่นเดียวกัน มีสีสัน และลวดลาย ดอกดวงงดงามเป็นพิเศษ ผ้าบางผืนจะทอกันเป็นเวลาแรมปีด้วยใจรัก และศรัทธา เช่น ผ้าลายจก ผ้าตีนจก ผ้าตาด ผ้ายก และผ้าปูม เป็นต้น
ผ้าปูม ผ้าไหมชนิดหนึ่งมีดอกเป็นตาๆ
ดังกล่าวแล้วว่า การทอผ้านั้นมีอยู่ทุกภาคของประเทศ แต่ละภาคจะมีจังหวัด ที่มีความเด่นเป็น พิเศษ ในการทอผ้า คือ
ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน จังหวัด เชียงใหม่
ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัด สระบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดราชบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัด อุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดขอนแก่น
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัด นครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา
ในเรื่องของผ้าที่ใช้ในการแต่งงานนั้น เรียกว่า ผ้าไหว้ ซึ่งเป็นผ้าของฝ่ายชายที่นำไปมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ในวันแต่งงาน ตามแต่จะตกลงกันว่า กี่ชุด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และฝากตัวในการที่ฝ่ายชายเข้ามาอยู่ร่วมกับสกุล หรือญาติวงศ์ของฝ่ายหญิง นอกจากนี้แล้วยังใช้สำหรับไหว้ผีบรรพชนของฝ่ายหญิงอีกด้วย