เครื่องโลหะ
โลหะเป็นวัสดุที่ใช้กันมากถัดจากดิน หัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีทำกันอยู่เกือบทั่วทุกจังหวัด ในประเทศไทย นิยมใช้วัสดุหลักอยู่ ๓ ชนิด คือ เหล็ก ทองเหลือง และทองแดง เครื่องเหล็กที่นิยมทำกันนั้น คือ เครื่องใช้ในครัวเรือน และการเกษตร เช่น มีด ขวาน ค้อน เคียว สิ่ว จอบ เสียม กรรไกรหนีบหมาก และกระดิ่ง ในการทำเครื่องเหล็กเหล่านี้ จะต้องใช้วิธีตีเป็นวิธีหลัก ในการนี้ จะต้องนำเอาแท่งเหล็กที่เตรียมเอาไว้มาเผาไฟให้ร้อน จนเป็นสีแดงในเตา เพื่อให้อ่อนตัว แล้วใช้คีมคีบนำมาวางบนทั่ง ตีด้วยค้อนใหญ่ ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการ แล้วนำไปเผาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะนำมาตีแต่งให้ได้สัดส่วนตามต้องการ แล้วจึงตกแต่งเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการขูดผิว และถูด้วยตะไบ เพื่อให้ผิวเรียบ หัตถกรรมบางชนิดต้องการความแข็งเป็นพิเศษ ในบางส่วน ซึ่งต้องนำไปชุบน้ำอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะชุบนั้น จะต้องนำเอาส่วนที่ต้องการให้แข็ง เผาไฟให้ร้อนแดงพอประมาณเสียก่อน ในกรณีที่ต้องการความแข็ง โดยทั่วไป ทั้งหมดของหัตถกรรมนั้นๆ จะต้องนำไปชุบน้ำมัน ส่วนมากใช้น้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันเตา การชุบทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความรู้ และความชำนาญเป็นพิเศษ งานหัตถกรรมจึงจะมีประสิทธิภาพ เครื่องเหล็กโดยเฉพาะมีด ทำกันมากที่ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลบ้านนาอ้อย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

กรรไกรหนีบหมาก
หัตถกรรมที่ใช้ทองเหลืองเป็นวัสดุในการสร้างนั้น ที่นิยมกัน คือ ระฆัง เชิงเทียน ที่ใส่ เครื่องกินหมาก เช่น ตะบัน ที่ใส่ใบพลู ถาด และฆ้อง (ฆ้องราว และฆ้องวง) ในการทำสิ่งเหล่านี้ จะต้องนำเอาทองเหลืองมาเผาจนหลอมเหลว แล้วจึงนำไปเทลงในแบบรูปต่างๆ ตามลักษณะที่ต้องการ หลังจากนั้น จึงนำมาตกแต่งให้เรียบร้อย โลหะชนิดสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ ทองแดง ในการทำหัตถกรรมนั้น จะต้องนำเอาทองแดง มาผสมกับโลหะอีก ๑ หรือ ๒ ชนิด คือ ทองและดีบุก สิ่งที่รู้จักกันดี และชาวบ้านใช้กันแพร่หลาย คือ "ขันลงหิน" ซึ่งทำกันมาก ที่ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านบุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขันลงหินทำด้วยโลหะทองแดงผสมกับดีบุก และเศษทอง นำไปใส่ในเบ้าหลอม ซึ่งทำจากดินผสมแกลบเหมือนอิฐ หมกลงไปในถ่านไฟที่ร้อนจัด จนโลหะทั้งสามอย่างละลายเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเทลงไปในเบ้าที่มีน้ำหล่ออยู่ เป็นแผ่นกลม แล้วเอาไปเผาไฟอีกทีหนึ่ง พอได้ที่แล้ว ก็ลงมือตีแผ่ โดยใช้ค้อนขนาดใหญ่ตี จนเนื้อทองแข็ง ตีไม่ออก ก็เอากลับสุมถ่านไฟใหม่ พอได้ที่ ก็นำเอาออกมาตีอีก ทำเรื่อยไป จนขึ้นเป็นรูปขันตามขนาดที่ต้องการ การตีขันต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ต่อจากนั้น ก็นำขันที่ตีเป็นรูปแล้วนั้น มาตีตกแต่งอีกทีหนึ่ง เรียกว่า "ตีลาย" นอกจากนั้นก็ถึงขั้นขัดเงา ซึ่งเรียกว่า "ลงหิน" ในปัจจุบันการขัดด้วยหินได้เปลี่ยนไปเป็นใช้เบ้าแทน โดยทุบเบ้าหลอมให้ละเอียด ผสมน้ำ แล้วห่อผ้า ใช้ขัดแทนหิน เรียกว่า "เหยียบเบ้า" ถ้าต้องการให้เงามากยิ่งขึ้น ก็นำมาขัดกับเครื่องสมัยใหม่ที่ปั่นด้วยไฟฟ้า ทายา แล้วขัดจนเป็นเงาอีกทีหนึ่ง นอกจากขันแล้ว ก็มีสิ่งอื่นอีก เช่น พาน ถาด เชิงเทียน ช้อน มีด ก็ใช้ กรรมวิธีเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ การตี หรือการหลอมเท่านั้น เครื่องโลหะลงหิน ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักในปัจจุบัน