เครื่องไม้ ไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับไม้มาแต่สมัยเริ่มแรกแล้ว ประการแรก มนุษย์ได้ใช้ไม้ สร้างที่อยู่อาศัย เมื่อมีวิวัฒนาการต่อมา มนุษย์จึงรู้จักใช้ไม้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการดำรงชีวิต และเมื่อได้รับความสะดวกสบายอย่างเพียงพอแล้ว ก็เริ่มสนใจในเรื่องของความสวยงาม ซึ่งให้ประโยชน์ทางอารมณ์ จึงเริ่มสร้างเครื่องไม้ขึ้นไว้สำหรับชื่นชมอีกด้วย เครื่องไม้ทั้งสองประเภทคือ เครื่องไม้ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ และประเภทสวยงามนี้ เป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมา จนถึงทุกวันนี้ วัสดุสำคัญที่คนไทยใช้ทำคือ ไม้สัก ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาก เพราะเนื้อไม้ไม่แข็ง ไม่หดตัว และปลวกไม่กัดกินทำลายเนื้อไม้ นอกจากนี้แล้ว ก็มีไม้ชิงชัน ไม้โมกมัน และไม้แดง เครื่องมือ และเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ เหล่านี้คือ หีบใส่ของ กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องหีบอ้อย นมไม้ กระจ่าสำหรับตักของ สาก ครกกระเดื่อง กระสวย (เครื่องบรรจุ ด้ายสำหรับทอผ้า) ไน (เครื่องมือปั่นฝ้าย) โปง (ที่แขวนคอสัตว์) หรือ ฮอก (ภาษาเหนือ) กระสม (ไม้ที่อยู่ในเครื่องทอผ้า สำหรับบิดม้วนผ้าที่ทอแล้ว) เครื่องเรือน (เตียงตั่ง) และเชี่ยนหมาก ซึ่งนิยมใช้กันในอดีตทางภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น | |
กระจ่า หรือจวักสำหรับคดข้าวหรือตักแกง ทำด้วยกะลามะพร้าวมีด้ามถือ | |
สำหรับเชี่ยนหมากนี้มีเรื่องเล่ามาแต่อดีตว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดมหาสารคาม มีครอบครัวชาวนาอยู่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีลูกชาย และลูกสาว ลูกชายมีความพึงพอใจลูกสาวของหมอกลางบ้านในละแวกนั้น เป็นประเพณีของชาวอีสาน เมื่อผู้ชายต้องการจะสู่ขอหญิงเพื่อจะแต่งงานกันนั้น จะต้องเอาเชี่ยนหมากให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เชี่ยนหมาก ที่จะให้นี้ จะมีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามฐานะ คนมีเงินก็อาจให้เชี่ยนหมากเงิน คนพอมีฐานะ ก็จะให้เชี่ยนหมากทองเหลือง ส่วนคนธรรมดา ก็จะให้เชี่ยนหมากไม้ หรือจักสาน ซึ่งซื้อมาจากช่างไม้ชาวบ้านนั่นเอง ลูกชายของครอบครัวชาวนาดังกล่าวนี้ เป็นคนมีฝีมือ และนิสัยรักงานช่าง จึงทำเชี่ยนหมากขึ้นเอง เพื่อประสงค์จะเอาไปเป็นของกำนัล สู่ขอลูกสาวหมอกลางบ้านดังกล่าว ลูกชายได้ทำเชี่ยนหมากอย่างสวยงาม จนสุดฝีมือ ใครได้เห็นก็ชมเชย จนเป็นที่เลื่องลือกันจนทั่วหมู่บ้าน จนความทราบถึงลูกสาวของหมอ ทำให้อยากเห็นเชี่ยนหมากขึ้นมาเป็นอย่างมาก ในที่สุดลูกชายชาวนาก็ได้แต่งงานกับลูกสาวของหมอสมความปรารถนา เรื่องนี้เป็นที่ประทับใจแก่พวกหนุ่มๆ ในหมู่บ้าน จนพากันทำตามอย่าง | |
ศาลพระภูมิ | การทำเชี่ยนหมากได้เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย โดยเฉพาะบรรดาคนหนุ่มๆ ในหมู่บ้าน ชนบทแถบนั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เชี่ยนหมากที่หนุ่มๆ ชาวบ้านทำขึ้น เพื่อที่จะให้แก่บรรดาสาวคนรักของตน หรือขายให้แก่ผู้ที่ต้องการ หรือผู้ที่ไม่มีฝีมือ ที่จะทำขึ้นได้เอง ได้เปลี่ยนมือผู้ทำมาเป็นพระ พระภิกษุทำเชี่ยนหมากขึ้นมา ก็เพื่อประสงค์ ที่จะเอาไว้ให้กับชาวบ้าน เป็นของตอบแทนแก่ผู้ที่มาทำบุญ ในเวลานั้น พระจึงมีบทบาทสำคัญในการทำเชี่ยนหมาก ต่อมาการกินหมากไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากทางราชการได้ห้ามกิน มีผลกระทบ ทำให้การทำเชี่ยนหมากลดน้อยลงโดยปริยาย และสูญหายไปในที่สุด เชี่ยนหมากมีหลายรูปแบบ มีชนิดที่ทาสี ชนิดสีธรรมชาติ ชนิดที่มีลายแกะด้านข้าง บ้างก็มีฝาเลื่อนปิดได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นงานฝีมือ ที่มีศิลปะทั้งสิ้น |
นอกจากเครื่องไม้ที่เป็นเครื่องใช้ภายในครัวเรือนแล้ว ชาวบ้านยังใช้ไม้ ทำชิ้นส่วนของอาคารและสถานที่ ส่วนมากเป็นการประดับ และตกแต่งให้งดงาม เช่น ลายฉลุไม้ประดับส่วนบนของช่องลม และประตูหน้าต่าง ไม้ค้ำยันชายหลังคา จั่วหลังคา หน้าบันโบสถ์ หรือวิหาร ลูกกรง หัวเสา งานเหล่านี้ ช่างชาวบ้านจะช่วยกันทำ อาคารส่วนใหญ่จะเป็นเรือนพักอาศัยภายในหมู่บ้าน รองลงมาคือ วัดและศาลพระภูมิ ชาวบ้านจะทำขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของตนเอง และเพื่อเป็นพุทธบูชา ทำด้วยฝีมือที่ประณีต และมักจะตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงาม ตามทัศนะของตนเอง การตกแต่งนั้นก็มีหลายวิธี วิธีที่นิยมกันคือ แกะสลักและฉลุ กรรมวิธีการแกะ หรือการจำหลัก ซึ่งเป็นศัพท์ทางวิชาการนั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะคือ แกะเป็นรูปนูนต่ำ หรือภาพจำหลักแบน รูปนูนสูง หรือภาพจำหลักนูน และรูปลอยตัว ช่างชาวบ้านจะมีทั้งเด็กหนุ่ม และคนแก่ ส่วนมากไม่เคยได้เล่าเรียนการแกะ หรือฉล ุมาจากสถาบันการศึกษาแห่งใด แต่จะเรียนรู้จากการถ่ายทอดด้วยวาจา และการปฏิบัติจากบรรพบุรุษ | |
ช้างไม้แกะสลัก | |
หัตถกรรมเครื่องไม้ประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เครื่องเล่น เครื่องดนตรี และเครื่องประดับตกแต่ง เช่น หมากขุม ลูกข่าง โปงลาง ซึง ตุ๊กตา โดยเฉพาะช้างไม้ การแกะช้าง ทำกันมากทางภาคเหนือ เนื่องจากช้างเป็นพาหนะสำคัญ ที่ใช้สำหรับขนท่อนซุงออกมาจากป่า เพื่อนำส่งยังโรงงานตัดไม้อีกทีหนึ่ง ช่างชาวบ้านได้เกิดความบันดาลใจในการทำงานของช้าง จึงนำเอาช้างในอากัปกิริยาต่างๆ มาเป็นเนื้อหาสำหรับแกะสลัก นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ในอดีต สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงใช้ช้างเป็นพาหนะ และใช้ในการออกศึกด้วย และช้างเคยเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติไทย เราจึงนิยมนำเอาช้างมาเป็นแบบในการแกะ ศิลปะแห่งการจำหลัก หรือแกะไม้นั้น ได้กระทำกัน มาแต่โบราณกาล แต่เนื่องจากไม้เป็นวัตถุที่เกิดความเสียหายได้ง่าย ด้วยสาเหตุทั่วไป และด้วยความชื้นของอากาศ งานจำหลักไม้จึงเหลือตกมาถึงยุคปัจจุบันนี้เพียงจำนวนน้อย และผลงานที่เก็บรักษาไว้ภายในอาคาร ไม่ถูกแดดเผา และถูกฝนชะเท่านั้น ที่ยังคงสภาพดีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ |