เล่มที่ 13
หัตถกรรมพื้นบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่องหิน

            วัสดุธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านนำมาทำหัตถกรรมก็คือ หิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น หินแกรนิต และหินทราย ซึ่งมีสีต่างๆ คือ สีเทา สีเหลือง และสีน้ำตาล หินแกรนิตนั้นเป็นหินที่มีคุณภาพดี ได้มาจากภูเขาในจังหวัดตาก และจังหวัดเลย หินทรายได้มาจากจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านจะนำหินมาแกะสลัก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์หลายประการด้วยกัน เช่น ทำเกี๊ยบ สำหรับประดับตกแต่งฮวงซุ้ย หรือที่ฝังศพ รูปสิงโตนั่ง ซึ่งส่วนมากใช้ประดับไว้ตรงประตูทางเข้าไปในโบสถ์หรือวิหารต่างๆ ครกและโม่สำหรับตำและบดอาหาร ลูกนิมิต และใบเสมา ซึ่งใช้สำหรับปักเขตพระอุโบสถในวัด หรือใช้สำหรับกำหนดเขตวัด หรือที่ของสงฆ์ ลูกนิมิตนั้นมีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ใช้ฝังอยู่ใต้ฐานเสมาโดยรอบ เข้าใจว่า จะเป็น ประเพณีทำมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมา (พ.ศ. ๒๓๐๐) การใช้หินมาทำใบเสมานั้น ก็เพราะมีความคงทนกว่าไม้ ซึ่งผุพังได้ง่าย ส่วนเหล็กและทองแดงนั้น เป็นวัสดุที่มีค่า อาจถูกนำไปหลอมเป็นอย่างอื่นได้ หินที่นิยมใช้ทำกันคือ หินชนวน หินอ่อน และหินทรายขาว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้หินครก และหินที่ส่งมาจากเมืองจีน ใบเสมาของแต่ละสมัยจะมีขนาดไม่เหมือนกัน ความสำคัญพิเศษของใบเสมาก็คือ ลวดลายที่จำหลักลงไป ซึ่งแสดงถึงความคิด และรสนิยมของคนในแต่ละสมัย

สิงโตหน้าโบสถ์

            การแกะสลักหินนั้น จะเริ่มต้นด้วยการสลักหินจากภูเขาตามขนาดที่ต้องการ จะไม่ใช้วิธีระเบิด เพราะจะทำให้หินแตกร้าว นำมาแกะสลักไม่ได้ ต่อจากนั้น จะแต่งผิวหน้า ให้เป็นรูปทรงตามต้องการ ด้วยการสับแต่ง ซึ่งมีอยู่ ๒ ขั้น ด้วยกันคือ สับหยาบ และสับละเอียด แล้วจึงจะแต่งผิวหุ่น ในกรณีที่ต้องการลวดลายเพิ่มเติม จึงจะลอกลายลงไปในหน้าหิน แล้วสกัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งมีลักษณะปลายแบนเหมือนขวาน เป็นลวดลายต่อไป สำหรับลูกนิมิตนั้น หุ่นเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยม หรือทรงกลม แต่ยังไม่ดีพอ ต้องนำมาทำให้กลมขึ้นอีก ช่างแกะสลักหินหัดใหม่นิยมหัดจากการทำลูกนิมิตก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝน ประมาณ ๘ เดือน ถึง ๑ ปี เมื่อมีฝีมือดีขึ้นแล้ว จึงจะสามารถแกะสลักงานที่มีลวดลายละเอียดได้