เครื่องกระดาษ
เครื่องกระดาษเป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านสร้างขึ้น เพื่อสนองความต้องการต่างๆ กัน คือ เพื่อใช้สอย เช่น สมุดไทย ร่ม ฯลฯ เพื่อประดับตกแต่งในโอกาสต่างๆ เช่น สายรุ้ง ธงฉัตร เพื่อการบันเทิงอารมณ์ เช่น หัวโขน หน้ากาก (กระตั้วแทงเสือ) หัวโต รูปสัตว์ (หมู ช้าง สิงห์) ตุ๊กตา และว่าว เป็นต้น

สมุดไทย
สมุดไทย
เป็นหนังสือของไทยโบราณ ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมิได้เย็บเป็นเล่มเหมือนหนังสือ ในปัจจุบันใช้กระดาษยาวติดต่อกันเป็นแผ่นเดียว พับกลับไปกลับมาเป็นเล่มหนาหรือบาง กว้างหรือยาวเท่าใดก็ได้ตามแต่ความต้องการของผู้ใช้ ส่วนมากการเขียนหนังสือนั้น ในสมัยก่อนนิยมเขียนใต้เส้นบรรทัด การเขียนหนังสือบนเส้นบรรทัด เพิ่งจะมานิยมกันในสมัยที่ตัวอักษรโรมันเข้ามาสู่ประเทศไทย ประมาณปลาย รัชกาลที่ ๓ วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว น้ำหมึก ซึ่งมีสีดำ ที่ทำจากเขม่าไฟ หรือหมึกจีน สีขาวทำจากเปลือกหอยมุก สีแดง ทำจากชาด สีทองทำจากทองคำเปลว และสีเหลือง ทำจากส่วนผสมของรงและหรดาล สมุดไทยมีความแตกต่างกันในตัวของมันเอง เป็นเหตุให้เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น เรียกชื่อตามประโยชน์ที่ใช้ ได้แก่ สมุดถือเฝ้า สมุดรองทรง และสมุดไตรภูมิ เรียกชื่อตามสีของเส้นอักษร ได้แก่ สมุดดำเส้นขาว สมุดดำเส้นหรดาล สมุดเส้นรง และสมุดเส้นทอง อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในปัจจุบันหมดความนิยมไปแล้ว เพราะอุปกรณ์การเขียนสมัยใหม่หาได้ง่าย และราคาถูก และมีการผลิตจำนวนมากสำหรับใช้กันทั่วโลก จึงได้รับความนิยมกันโดยทั่วไป ทำให้การเขียนแบบเก่าในสมุดไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญของไทยเราค่อยๆ ลบเลือนไป

การติดกระดาษสาเข้ากับโครงร่ม
ร่ม
เป็นเครื่องใช้สอยอย่างหนึ่งสำหรับกันแดดและฝน ซึ่งรู้จักใช้กันมานานแล้ว มีโครงทำด้วยไม้ไผ่ ปิดด้วยกระดาษสา ส่วนหัวหรือตุ้มร่ม ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ซึ่งสะดวกแก่การกลึงและผ่าร่องซี่ของร่ม ซี่ร่มทำด้วยไม้ไผ่ ส่วนคันร่มนั้นใช้ไม้เนื้ออ่อนกลึง หรือทำด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็ก ด้ามร่มพันด้วยเส้นหวายผ่าซีก ขนาดเล็ก ปลอกสวมหัวร่มใช้ใบลาน หรือกระดาษหนา ห่วงร่มทำจากเส้นตอกไม้ไผ่ขดเป็นวงกลม และพันด้วยกระดาษสาโดยรอบ ส่วนครอบหัวร่ม ทำด้วยแผ่นสังกะสี เมื่อชาวบ้านทำเสร็จแล้ว จะนำไปจำหน่ายในเมือง ร่มมีทำกันมากที่ตำบลบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
สายรุ้ง ธง และฉัตร
สายรุ้งเป็นแถบกระดาษสีต่างๆ ขนาดเล็กและยาว ใช้ขว้างแสดงความรื่นเริง หรือใช้ตกแต่งสถานที่ โดยโยงติดกับตัวอาคาร ส่วนธงเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนมากมีรูปร่างสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีต่างๆ กัน มักใช้ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ที่มีลักษณะชั่วคราว มีก้านทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้จริง เป็นด้ามกลมหรือสี่เหลี่ยม

สายรุ้งประดับอาคารในงานรื่นเริง
ส่วนฉัตรนั้นมีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกัน ทำด้วยแผ่นกระดาษแข็งเป็นวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ขอบกระดาษแข็ง ปิดด้วยกระดาษสี กระดาษเงินหรือทอง ชายกระดาษตัดเป็นแฉกๆ มีก้านทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้รวก ส่วนยอดจะเป็นธงสามเหลี่ยม ฉัตรใช้ปักประดับบริเวณวัดในเทศกาลต่างๆ และในงานทอดกฐิน และผ้าป่า
ส่วนธงกระดาษแก้วสีต่างๆ ขนาดเล็ก มักนิยมใช้ปักเจดีย์ทรายในงานวัดทั่วไป

หัวโขนรูปต่างๆ
หัวโขน
คือ หน้ากากสวมหัวที่ใช้ในการแสดงแบบหนึ่งของไทย มีลักษณะต่างๆ กันไป ตามฐานะของผู้แสดง ซึ่งไม่อาจจะขับร้อง หรือเจรจาเองได้ จึงทำให้เกิดการพากย์ขึ้น ผู้แสดง และผู้พากย์ จะต้องมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ขณะที่เราชมการแสดงโขน จะรู้สึกว่า ผู้แสดง ที่สวมหัวโขน จะแสดงอาการดีใจ เศร้าโศก ได้เหมือนกับมนุษย์ธรรมดา หัวโขนได้ถูกนำมาใช้ในการแสดง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๓๐๐) ตามปกติจะมีเพียง ๒ แบบ คือ แบบสวมมงกุฎ และไม่สวมมงกุฎ หรือที่เรียกว่า "ศีรษะโล้น" มงกุฎที่สวมหัวโขนนั้น โดยทั่วไปแล้ว มักจะทำติดกันตายตัว แต่บางครั้งก็ทำให้ถอดแยกออกจากกันได้ ในการทำหัวโขนนั้น สิ่งสำคัญจะต้องมีหุ่นหัวโขน ซึ่งทำด้วยปูนหรือสลักไม้ก็ได้ (หุ่นนี้จะมีลักษณะของใบหน้า และรูปศีรษะเป็นเค้า พอให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีหลายชนิด เช่น หุ่นหัวยักษ์ หัวลิงอ้าปาก และหุบปาก หัวฤาษี หัวช้าง ฯลฯ) หลังจากนั้นก็ใช้กระดาษฟาง หรือกระดาษสา หรือกระดาษข่อยอย่างบาง ชุบน้ำพอเปียก แล้วนำมาวางทาบกับหุ่นให้ทั่วหัว ประมาณ ๓-๔ ชั้น ชั้นต่อมาใช้กระดาษทาแป้งเปียกปิด ทับลงไปอีก จนหนาพอสมควร แล้วนำไปผึ่งแดด ให้ (ภายนอก) แห้ง แล้วขัดถูด้วยชิ้นไม้ไผ่ หรือเขาสัตว์ให้เรียบทั่วหัว แล้วผึ่งแดดอีกครั้งหนึ่ง พอแห้งสนิทจึงรีด (ขัด) ให้กระดาษที่ปิดขึ้นมันและเรียบ จากนั้นใช้มีดกรีดผ่า ตั้งแต่กลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย (ไม่ผ่าด้าน หน้า เพราะจะเป็นรอย) ค่อยๆ ลอกเอากระดาษ ที่ปิดออกจากหุ่น แล้วเย็บรอยผ่าให้สนิท ใช้กระดาษบางๆ ทาแป้งเปียกปิดทับรอยเย็บให้เรียบร้อย สำหรับการตกแต่งหัวโขนนั้น ใช้รักสมุกปั้นเป็นหางคิ้ว หนวด ริมฝีปาก และส่วนที่ต้องการให้นูนขึ้น ส่วนลวดลายต่างๆ ก็ใช้รักสมุก กดลงในแม่พิมพ์หินอ่อน ซึ่งแกะเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายเทศตาอ้อย ตากนก ฯลฯ เมื่อได้ พอแก่ความต้องการแล้ว ก็ใช้รักอย่างใสทาปิดประดับลงในที่ๆ ต้องการจนทั่ว แล้วก็ตกแต่งด้วยสีอีกทีหนึ่ง โดยลงสีพื้นเสียก่อน ส่วนภายในของหัวโขนนั้น มักใช้สีหรือรักอย่างใสทา เพื่อป้องกันตัวสัตว์มาแทะ
หัวโต
มีลักษณะเช่นเดียวกับหัวโขน แต่ใช้สวมใส่ เพื่อร่วมแสดงในกระบวนแห่ต่างๆ เช่น บวชนาค หัวโตมักจะทำกันสองลักษณะ คือ หัวผู้หญิง และหัวผู้ชาย วิธีการทำหัวโตนั้น เช่นเดียวกับหัวโขน แต่ไม่ละเอียด และประณีตเท่าเทียมกัน ปกติแล้ว จะสร้างให้มีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ประการหนึ่ง และเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน (ตลก) ให้กับผู้พบเห็นมากขึ้นอีกประการหนึ่ง
หน้ากาก
ใช้สวมใส่เพื่อร่วมแสดงในขบวนแห่เช่นเดียวกันกับหัวโต เช่น การแสดง "กระตั้วแทงเสือ" หน้ากากกระตั้วจะมีเพียงครึ่งเดียว ไม่เหมือนกับหัวโขน หรือหัวโต ส่วนหัวเสือนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับหัวสัตว์ในการแสดงโขน ผู้สวมจะแต่งตัวด้วยผ้าสีลายคล้ายลายเสือ และผูกหางเสือด้วย เพื่อให้มองดูสมจริง

หมูและตุ๊กตา
หมูและตุ๊กตากระดาษ เป็นของเล่นที่นิยมกันมากในหมู่ชาวชนบท มักจะทำออกจำหน่ายตามงานวัด ในเทศกาลต่างๆ การทำก็เช่นเดียวกับหัวโขน กล่าวคือ จะต้องมีตัวหุ่นทำด้วยไม้หรือปูนปลาสเตอร์ เป็นรูปหมู และตุ๊กตา หมูบางตัวมีขนาดใหญ่พอ ที่เด็กตัวเล็กๆ จะขี่เล่นได้ บางครั้งคนทำจะนำหมูตัวเล็กมาเจาะรูที่ส่วนหลัง สำหรับใส่สตางค์ เป็นที่สะสมเงินให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย
ว่าว
เป็นเครื่องเล่นชนิดหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้ลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยแรงลม และมีสายป่านคอยบังคับให้ลอยอยู่ในทิศทางที่ต้องการ ว่าวไทยในอดีตนั้นมีกล่าวอยู่ในพงศาวดารเหนือว่า พระร่วงทรงเล่นว่าวอย่างไม่ถือพระองค์ ว่าเป็นท้าว เป็นพระยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๐๐) ก็มีการเล่นว่าวกันมาก ถึงกับมีกฎมณเฑียรบาล ห้ามมิให้ประชาชนเล่นว่าวทับพระราชวัง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีการเล่นว่าวดังเช่นในสมัย รัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงโปรดให้ใช้สถานที่ในพระราชวังดุสิต และสนามสโมสรเสือป่าเป็นที่เล่นว่าวจุฬากับปักเป้า เป็นต้น ว่าวของไทยที่ทำขึ้นเล่นกันเป็นพื้น มีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกันคือ อีลุ้ม ปักเป้า จุฬา และตุ๋ยตุ่ย
ว่าวอีลุ้ม
ว่าวอีลุ้ม
มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีไม้ไผ่เป็นโครงสองอันคือ อกและปีก อกจะสั้นกว่าปีกเล็กน้อย กระดาษที่ใช้ปิดทาบลงบนโครงนี้ คือ กระดาษว่าว ซึ่งบางเป็นพิเศษ ส่วนปลายของปีกทั้งสองข้างจะติดพู่กระดาษ เพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ว่าวลอยอยู่ใน อากาศ
ว่าวปักเป้า
ว่าวปักเป้า
มีลักษณะเช่นเดียวกับว่าว อีลุ้ม แต่ทว่าไม้โครงส่วนที่เป็นปีกจะแข็งกว่าปีกของอีลุ้มมาก จึงต้องมีหาง ซึ่งทำด้วยผ้าเป็นเส้นยาวถ่วงอยู่ที่ส่วนก้น เมื่อชักขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศแล้ว จะไม่ลอยอยู่เฉยๆ จะส่ายตัวไปมาน่าดูมาก และเมื่อถูกคนชักกระตุกสายเชือกป่านตามวิธีการแล้ว มันจะเคลื่อนไหวโฉบเฉี่ยวไปในท่าทางต่างๆ ตามต้องการ
ว่าวจุฬา
ว่าวจุฬา
มีลักษณะเป็น ๕ แฉก ประกอบ เป็นโครงขึ้นด้วยไม้ ๕ อัน นักเลงว่าวจะเสาะหาไม้ไผ่สีสุกที่มีปล้องยาวเรียว เรียกว่า "เพชรไม้" มาเหลา อันกลางเรียกว่า "อก" เหลาปลายเรียว หัวท้าย ๑ อัน อีก ๒ อันผูกขนาบตัวปลายให้ จรดกันเป็นปีก และอีก ๒ อัน เป็นขาว่าวเรียกว่า "ขากบ" จากนั้นขึงด้ายเป็นตารางตลอดตัวว่าว เรียกว่า "ผูกสัก" แล้วใช้กระดาษสาปิดทับ ลงบนโครง สำเร็จเป็นว่าวจุฬา ถ้าหากไม่ถูกสัดส่วนแล้ว ว่าวจะไม่อาจลอยตัวขึ้นได้เลย
ว่าวตุ๋ยตุ่ย
ว่าวตุ๋ยตุ่ย
มีรูปร่างแบบเดียวกับว่าวจุฬา แต่ขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนบนใหญ่ และส่วนล่างเล็ก สุดตัวตอนล่างมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งมีสองหาง ช่วยในการทรงตัว เมื่อขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ ส่วนบนของหัวไม้ อันที่เป็นอกยื่นออกมาในราวหนึ่งคืบ เป็นเดือยในลักษณะสี่เหลี่ยม เพื่อเสียบที่ทำเสียง ซึ่งเป็นคันเหมือนคันกระสุนหรือธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยมกึ่งกลางคัน ให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ตัวการที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ใช้ไม้ไผ่หรือหวายเส้นโตๆ เหลาให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดกับปลายคัน เมื่อติดเครื่องทำเสียงนี้แล้ว ก็จัดการให้ว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบางๆ ที่ถูกขึงตึงอยู่นั้น เมื่อสายลมมาปะทะ ก็จะพลิ้วตัว ทำให้เกิดเสียงดังตุ๋ยตุ่ยอยู่ตลอดเวลา ว่าวนี้ทำเล่นกันตามชนบท โดยมากพระเป็นผู้ทำ นิยมชักขึ้นในเวลากลางคืน
นอกจากนี้แล้ว ยังมีว่าวเบ็ดเตล็ดอีกหลายชนิด เช่น ว่าวงู ว่าวกบ ว่าวตะขาบ ฯลฯ ว่าวไทยเรามีความสวยงาม และประณีต นอกจากจะใช้เล่นแล้ว ยังนำมาแขวนเป็นเครื่องประดับอาคารสถานที่ได้อีกด้วย