เครื่องหนัง
หนังสัตว์เป็นวัตถุธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้ประดิษฐ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวหนัง จะขอกล่าวถึงตัวหนังตะลุง ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการละเล่นพื้นบ้าน ชนิดที่ใช้ตะเกียงส่องตัวหนัง เพื่อให้เกิดเงาไปตกทอดบนจอผ้า ที่ขึงเตรียมรับไว้ นอกจากนี้แล้ว ก็มีบทพากย์ บทเจรจา ดนตรี และการเชิด สำหรับกำเนิดของหนังตะลุงนั้น มีอยู่หลายความคิดด้วยกัน เช่น หนังตะลุงเกิดขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยที่เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) นำจากจังหวัดพัทลุง เข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรก ที่บางปะอิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระองค์ทรงถามว่า มาจากไหน ซึ่งได้รับคำตอบจากคนใต้ ซึ่งชอบพูดสั้นๆ ว่า "หนังลุง" ซึ่งหมายถึง หนังที่มาจากเมืองพัทลุง จึงเรียกกันมาว่า "หนังตะลุง" ส่วนพวกชาวบ้านควนมะพร้าว จังหวัดพัทลุง เรียกกันว่า "หนังควน" อีกความเห็นหนึ่งกล่าวว่า หนังตะลุงได้รับอิทธิพลมาจากหนังของชวา โดยผ่านทางมาเลเซีย ซึ่งต่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่งด้วยกัน
ตัวหนังตะลุง (ตัวนาง)
หนังตะลุงนิยมเล่นกันในจังหวัดภาคใต้ เรื่องที่แสดงกันคือ เรื่องรามเกียรติ์ แต่ได้นำมาเพิ่มเติม หรือเสริมแต่งนิทานพื้นบ้านผสมเข้าไปบ้าง เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับชีวิต และขนบประเพณี ของชาวบ้าน ในสมัยก่อนมักจะเล่นในงานบวชนาค งานศพ และงานวัด ปัจจุบัน เล่นได้ทุกโอกาส ตัวหนังตะลุงแต่ละคณะมีจำนวนไม่เท่ากัน ตั้งแต่ประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ ตัว ตามความจำเป็นที่ต้องใช้ อันประกอบด้วยรูปฤาษี พระอิศวร ปรายหน้าบท ตัวตลก เจ้าเมือง มนุษย์ ยักษ์ โจร ต้นไม้ ยานพาหนะ ปราสาท อาวุธ สัตว์ มีขนาดความสูงประมาณ ๑-๒ ฟุต ทำด้วยหนังวัวดิบที่ตากแห้ง ขึงใส่สะดึง เพื่อให้หนังตึง เมื่อแผ่นหนังจวนแห้ง จึงนำมาขูดด้วยกะลามะพร้าว ทั้งด้านนอกและด้านใน เพื่อให้ขนและเนื้อเยื่อออกหมด จนบางจนกระทั่งดูโปร่งแสง เมื่อแผ่นหนังแห้งดีแล้ว ก็ใช้ถ่านกะลามะพร้าว หรือถ่านใบลำโพง ตำละลายน้ำข้าว ทาให้ทั่ว แผ่นหนังจะมีสีดำ หลังจากนั้น ก็เริ่มร่างภาพหนัง ช่างร่างภาพกับช่างสลักหนังนั้น บางทีก็เป็นคนๆ เดียวกัน การร่างภาพนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ร่างภาพบนผ้าขาวผืนใหญ่ หรือบนแผ่นกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่ร่างนั้น ไปปิดบนแผ่นหน้า แล้วใช้ตุ๊ดตู่ และสิ่วขนาดหน้าต่างๆ ฉลุตามรอยร่อง หรือใช้ดินสอขาวร่างลงบนแผ่นหนังเลยก็ได้ ช่างร่างจะต้องเป็นผู้ออกแบบท่าทาง และจัดองค์ประกอบด้วยตนเอง ส่วนช่างฉลุจะฉลุเป็นตัวโปร่ง โดยจะต้องรู้ว่า จะฉลุเส้นอย่างไร จะเว้นช่องว่างอย่างไร จึงจะเกิดช่องไฟที่พอดี มีพื้นหนังทึบสำหรับให้หนังเกาะยึดติดกันอยู่ได้ นอกจากนี้แล้ว ยังจะต้องทำแขนให้เคลื่อนไหวได้ โดยมีคันไม้เล็กๆ โยงแขนหรือมือ ให้เคลื่อนไหวออกท่าทางได้ในเวลากระตุก ถ้าเป็นตัวตลก จะมีไม้ชักให้ส่วนปากอ้าพูดได้ ตัวหนังจะมีทั้งหนังทาดำและสีอื่นๆ สีที่ใช้ทาก็มี หมึกจีน สีย้อมผ้า หรือสีหมึก (สีแดง เหลือง เขียว) ที่ตัวหนังจะมีไม้ประกบตามตัวหนังเลยลงมาด้านล่าง สำหรับมือจับเชิดอันเดียว และมีคันไม้โยง สำหรับชักให้แขนของตัวเคลื่อนไหวไปตามบทของตัวหนังตะลุง ตามที่กล่าวมานี้ มีลักษณะเป็นหนังเดี่ยว คือ เป็นภาพๆ เดียว จะเป็นตัวพระ หรือตัวอื่นใดก็ได้ ซึ่งไม่มีขอบ