เครื่องรัก
เครื่องรักเป็นหัตถกรรมที่ใช้รักเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างผลงาน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วย กัน เช่น ปิดทองรดน้ำ ภาพกำมะลอ ประดับมุกประดับกระจกสี ปั้นกระแหนะ และเขิน ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอแต่เฉพาะที่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านเท่านั้น นั่นคือ เขินหรือเครื่องเขิน ซึ่งนิยมทำกันมากในจังหวัดภาคเหนือ เครื่องเขินนี้มีชื่อเรียกตามเผ่าพันธุ์ของคนไทยเผ่าเขิน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิม อยู่ในเมืองเชียงตุง ประเทศ พม่า พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทำสงครามกับพม่า (พ.ศ. ๒๓๒๕) และได้กวาดต้อนราษฎรเมืองเชียงตุง มาเชียงใหม่ ในจำนวนนี้มีพวกช่างรักด้วย ซึ่งรวมตัวกันอยู่เป็นหมู่บ้านเรียกว่า หมู่บ้าน "เขิน" ซึ่งมีอาชีพทำเครื่องเขินกันทั้งหมู่บ้าน
ตะลุ่มประดับมุก
เครื่องเขินส่วนมากจะเป็นภาชนะสำหรับใช้สอยจำพวก พาน ขันน้ำ เชี่ยนหมาก ถาด ฯลฯ ในการทำนั้น จะต้องนำไม้ไผ่มาสานขึ้นเป็นรูปเสียก่อน โดยมีหุ่นไม้เป็นแบบ หรืออาจไม่ต้องใช้หุ่นก็ได้ แต่ใช้การขดและสานเป็นรูป ต่อจากนั้นจะใช้รัก ซึ่งเป็นยางไม้ (ยางรัก) ผสมกับถ่านของข้าวเปลือก หรือหญ้าคา (ทำให้เกิดสีดำ) ทาให้เรียบ เพื่อปิดรอยสานให้มิดชิด ขัดผิวให้เรียบ แล้วเขียนลวดลาย ประดับด้วยสีน้ำมัน หรือใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า เหล็กจาร ขูด หรือขีดเป็นเส้นลึกลงบนผิว ใช้สีฝุ่นผสมน้ำมัน ทาทับตามรอยอีกทีหนึ่ง สีจะเข้าไปอุดในเส้น ต่อจากนั้น ใช้ผ้าเช็ดสีที่ผิวออก พื้นรักที่เป็นสีดำ จะขับเส้นลายให้เห็นเป็นลวดลายงดงาม