หม้อลายเขียนสี วัฒนธรรมบ้านเชียง อายุราว ๓,๐๐๐ ปี
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อายุระหว่างราว ๕๐,๐๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไทยเป็นการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ ที่ได้จากหลักฐานที่ถูกละทิ้งไว้บนดิน ในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่อาศัย หรือในหลุมศพ อาจจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ทำจากหินในรูปแบบต่างๆ ภาชนะที่ทำด้วยดินหรือโลหะ ตลอดจนเครื่องประดับที่ติดอยู่กับโครงกระดูก ซึ่งเรื่องราวของมนุษย์กลุ่มต่างๆ เหล่านี้อยู่ ในระยะเวลาที่ไม่ปรากฏว่ามีการใช้หนังสือเป็นสื่อภาษาที่บันทึกไว้แต่ อย่างใด แต่เราสามารถศึกษาอายุของหลักฐานโบราณวัตถุนั้นๆ จากรูปร่างลักษณะ และจากวัสดุที่ใช้ทำขึ้น ทั้งโดยวิธีการหาอายุจากวิธีวิทยาศาสตร์ คือ วิธีคาร์บอน ๑๔ หรือเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ และการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบของโบราณวัตถุจากแหล่ง โบราณคดีของเพื่อนบ้าน หรือดินแดนอารยธรรมร่วมสมัยใกล้เคียงที่สามารถศึกษากำหนดอายุได้ แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของไทยนี้แต่เดิมแบ่งออกเป็น ๔ สมัย ตามลักษณะและวัสดุที่นำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ คือ
๑. สมัยหินเก่า อายุประมาณ ๕๐,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๒. สมัยหินกลาง อายุประมาณ ๑๐,๐๐๐-๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๓. สมัยหินใหม่ อายุประมาณ ๗,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๔. สมัยโลหะ อายุประมาณ ๕,๖๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว
อย่างไรก็ดี สมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ นักวิชาการโบราณคดีรุ่นใหม่ ได้ใช้ศัพท์ในการกำหนดเรียกสมัยเหล่านี้ใหม่ โดยใช้ลักษณะความเจริญของสังคม เป็นการกำหนดอายุ คือ
๑. สังคมล่าสัตว์
๒. สังคมเกษตรกรรม
๓. สังคมเมืองเริ่มแรก