เครื่อง ปั้นดินเผาทวาราวดี
วัฒนธรรมทวารวดีสืบทอดจากวัฒนธรรมฟูนัน ชื่อของรัฐทวารวดีปรากฏอยู่ในบันทึกของพระภิกษุจีนชื่อ หยวนฉ่างหรือเหี้ยนจัง ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยเรียกว่า "โต โลโปตี้" และว่าตั้งอยู่ระหว่างรัฐศรีเกษตร (ในพม่าปัจจุบัน) กับรัฐอิศานปุระ(ในกัมพูชาปัจจุบัน) ซึ่งก็คือในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน หลักฐานที่ยืนยันอีก อย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับชื่อทวารวดีก็คือ การพบเหรียญเงิน ที่มีจารึกภาษาสันสกฤตความว่า "ศรี ทวารวติศวรปุณยะ" แปลว่า "บุญ กุศลของ พระราชาแห่งศรีทวารวดี" อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสนใจว่า สร้อยนามของอยุธยาจริงๆ นั้น มีคำทวารวดีอยู่ด้วย คือ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เชื่อว่า ทวารวดีน่าจะเป็นชื่อรัฐใหญ่ ที่มีอำนาจอยู่ในภาคกลางบนแผ่นดินไทย มาแต่โบราณ ก่อนอยุธยาจริง และคงจะมีอำนาจ อยู่ระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ รัฐนี้มีการ ติดต่อกับดินแดนตะวันออกกลาง และไกลไปถึง ถิ่นของพวกเฟอร์นิเชียนและโรมันด้วย จากผลงาน ศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ แสดงว่าเป็นรัฐที่ประชาชน นิยมนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท และมี ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอยู่ในภาคกลางแถบลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง คือ แถบจังหวัด นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ และได้ปรากฏ ในเมืองต่างๆ ทั่วทุกทิศ อาทิ ทิศเหนือไปถึง ลำพูน (หริภุญไชย) ทิศตะวันออก ไปปรากฏที่ นครนายก ปราจีนบุรี และอรัญประเทศ ทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏที่สระบุรี นครราช- สีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร ทิศใต้ปรากฏที่ราชบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และยะลา
ตามเส้นทางที่กล่าวมานี้จะพบร่องรอยหลักฐานงานศิลปกรรม ที่แสดงรูปแบบจากศิลปะคุปตะ และหลังคุปตะของอินเดียและได้พัฒนาปรับเปลี่ยนนำลักษณะพื้นเมืองเข้าผสมผสานทีละน้อย จนเป็นลักษณะของตนเองได้เป็นอย่างดี
แหล่งโบราณคดีทวารวดีสำคัญ ที่กรมศิลปากรทำการขุดค้น ได้พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณีแบบทวารวดี ได้มีพบที่ในภาคกลาง เช่น ที่จังหวัดนครปฐม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี และที่จันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และที่ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์จังหวัดชัยนาท
การตกแต่งรอบไหล่ภาชนะดินเผาทวารวดีด้วยวิธีกดประทับเป็นลายหงส์และลายดอกไม้ก้านขด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔
ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้พบคตินิยม ที่โดดเด่นคือ การสลักภาพพระพุทธประวัติ และชาดก บนใบเสมาขนาดใหญ่ ที่ปักรอบเป็นวงกลมหรือวงรูปไข่ ล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์ หรือเขตที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่นที่ จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม และหนองคายเป็นต้น
ตะคันดินเผารูปแบบต่างๆ สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖
รูปแบบเครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมทวาร วดี
จากการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีทวาราวดีแทบทุกแห่ง จะพบเครื่องปั้นดินเผาด้วยเสมอ ซึ่งมักจะเป็นภาชนะที่มีเนื้อดินแกร่งไม่เคลือบน้ำเคลือบ เช่น
๑. หม้อ
มีทั้งเนื้อแกร่งแบบสโตนแวร์ และดินเผาแบบเอิร์ทเธนแวร์ ล้วนขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน มีทั้งหม้อก้นกลมขอบปากม้วน หม้อก้นกลมคอสูง หม้อมีสัน มีการตกแต่งผิว ด้วยการขัดมันบ้าง หรือตกแต่งด้วยเส้นนูน หรือทำเป็นร่องตื้นๆ บางทีมีรอยกดด้วยนิ้วมือ รอยขูดขีดเป็นลายคลื่นคดโค้ง หรือเป็นแนวจุดประ เป็นลายกากบาท ลายเชือกทาบ ลายประทับเป็นรูปช้าง รูปม้า และลายพันธุ์พฤกษา มีแตกต่างกันดังนี้
๑.๑ หม้อดินเผา เนื้อบาง ก้นกลม ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดใบ ตั้งแต่คอถึงก้นหม้อแบบนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม หม้อแบบนี้พบที่จันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และที่บ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
๑.๒ หม้อมีสัน เนื้อดินบาง ปากกว้าง คอสั้น ก้นหม้อค่อนข้างกลม มีทั้งก้นตื้นและลึก ผิวมีทั้งขัดมันและไม่ขัดมัน มีสีดำ แดง และน้ำตาล เหนือสันหม้อตกแต่งด้วยลายเส้นนูนหรือขุดเป็นร่องลึก ๑-๓ เส้น หรือเป็นรอยกดเป็นระยะๆ ที่ตัวหม้อใต้แนวสันลงไปถึงก้น ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและลายเชือกทาบ
๑.๓ หม้อก้นกลม เนื้อแกร่งกึ่งสโตนแวร์ คอคอดสูง ผลิตด้วยฝีมือประณีต มีผิวเรียบ ตกแต่งด้วยเทคนิคต่างๆ และเขียนสี โดยตกแต่งที่ส่วนบ่าและลำตัว คือ บริเวณส่วนบ่านิยมตกแต่งด้วยลายกด เป็นแนวคล้ายลายคลื่นขนานกัน ๓-๔ เส้น เรียกว่า ลายหวี
๒. พาน
เป็นภาชนะที่มีเชิงสูง เนื้อดินปั้นแกร่ง ส่วนตัวพานมีทั้งทรงแบบชามก้นกลมลึกกับชามก้นตัดทรงตื้น ตัวเชิงเป็นทรงกรวยสูง มีทั้งแบบเรียบและประดิษฐ์เป็นปล้องต่อกัน
๓. ตะเกียง
เป็นตะเกียงใส่น้ำมันรูปร่างยาว แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนตัวตะเกียง เป็นรูปกลมแบบสำหรับใส่น้ำมัน และส่วนพวยที่ยื่นต่อออกมาสำหรับสอดไส้ตะเกียง รูปร่างคล้ายกับตะเกียงของอินเดีย แบบอานธระ หรือแบบโรมัน ตัวตะเกียงมีเนื้อดินปั้นหยาบหนา มีทั้งสีเทา และสีน้ำตาล แสดงถึงการขึ้นรูปด้วยมือ
๔. ตะคัน
เป็นตะเกียงขนาดเล็ก มีทั้งรูปร่างคล้ายจานเล็กที่ใส่น้ำจิ้ม และคล้ายถ้วยตะไล แต่จะมีลักษณะเตี้ย กลม ปากบานเรียบ บางทีจับเป็นจีบเล็กๆ จีบเดียว หรือเป็นปากหยักโดยรอบ สำหรับพาดไส้ตะเกียง มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียดบางทีมีเชิงสูง
๕. คนที หรือกุณฑี
เป็นหม้อน้ำมีพวย มีทั้งพวยเรียบๆ และที่มีการตกแต่งที่ปลายพวย ตัวหม้อน้ำจะมีขนาดใหญ่ คล้ายหม้อก้นกลม แต่คอคอดเล็กและสูง ที่ก้นมีขอบเชิงเตี้ยๆ คนทีจะมีทั้งเนื้อดินปั้นหยาบและละเอียด มีทั้งแบบเรียบและตกแต่งด้วยการเขียนสีแดงบนตัวภาชนะที่ทาน้ำ ดินสีนวลไว้เป็นแนวรอบไหล ่เหนือพวกกา ๕-๖ เส้น
๖. ชาม
เป็นภาชนะรูปกลม ปากกว้างม้วนขอบ ส่วนก้นลึกสอบ มีทั้งก้นกลม และตัดปาด เพื่อสะดวกในการตั้งวาง มีเนื้อดินแกร่งละเอียด
๗. ส่วนของภาชนะอื่นๆ
ได้มีการพบส่วนของภาชนะที่น่าสนใจ แต่ไม่สามารถจัดได้ว่า รูปทรงที่จะประกอบส่วนภาชนะเหล่านี้ จะมีรูปร่างแบบใด นั่นคือ การพบขาตั้งภาชนะ คล้ายกับขาที่สำหรับรองกระถางต้นไม้จีน ที่จันเสน และที่อินทร์บุรี ก็พบขาภาชนะดังกล่าว ฝาภาชนะมีจุกที่มีทั้งทรงยอดกลม และยอดคล้ายดอกบัวตูมคล้ายจุกฝาหม้อสมัยอยุธยา ซึ่งแสดงว่าลักษณะของจุกฝาภาชนะได้พัฒนาไปช้ามาก จึงยังคงเห็นการสืบทอดต่อมา