เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


ชามเบญจรงค์ลายสิงห์ สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓



กระโถนเบญจรงค์ลายเทพนมสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓

เครื่องถ้วยสมัยอยุธยา

            สมเด็จพระเจ้าอู่ทองหรือพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งอยุธยาเป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ นับจากนั้นเป็นต้นมา อยุธยาได้เป็นราชธานี มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเป็นเวลา ๔๑๗ ปี เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายหลายชาติ ในบรรดาสินค้าที่ซื้อขายกันในอยุธยา ที่น่าสนใจสิ่งหนึ่งคือ "เครื่องถ้วย" อาณาจักรอยุธยาเอง เมื่อได้มีอำนาจเหนือรัฐสุโขทัย ก็ได้พยายามสนับสนุนการผลิตเครื่องสังคโลก ที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย ทั้งที่แหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัย แหล่งเตาเผาบ้านเตาไห และที่แหล่งเตาเผาวัดพระปรางค์ เพื่อเป็นสินค้า ส่งไปจำหน่ายในหัวเมืองต่างๆ ภายในประเทศและ ต่างประเทศ อันเป็นการส่งสินค้าเครื่องถ้วยออก ไปขายแข่งกับเครื่องถ้วยจีนที่ถูกรัฐบาลจีนระงับ ส่งออกชั่วคราว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ จน พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงลดความสำคัญลง จนเลิกการผลิต อาจเป็นเพราะรัฐบาลจีนเริ่มส่งเครื่องถ้วยของตนออกไปขายอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเครื่องถ้วยที่มีรูปแบบแปลกใหม่เรียกว่า เครื่องห้าสี หรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ประกอบกับเหตุการณ์สงคราม ภายในอยุธยาเอง หรืออาจเป็นเพราะเครื่อง ถ้วยจากแหล่งเตาเผาใหม่ที่อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้การผลิต เครื่องสังคโลกต้องเลิกไปในที่สุด

เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง

            เครื่องถ้วยลายเขียนสีที่เรียกว่า เครื่องห้าสี หรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่เขียนลายโดยวิธีลงยา (enamel) ด้วยสีต่างๆ ตั้งแต่ ๓ สีขึ้นไป จีนเรียกว่า อู่ไฉ่ โต้วไฉ่ เฝินไฉ่ และฝาหลั่งไฉ่ ตามเทคนิคการเขียนลายสีที่แตกต่างกันไปของจีน แต่ถ้าเป็นเครื่องถ้วยไทยแล้วหมายถึง เครื่องถ้วยเบญจรงค์อย่างของไทย ที่สั่งจีนทำ ใช้รูปแบบลายแบบลายไทย จีนนิยมเครื่องถ้วยลงยาห้าสี มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าวั่นลี่ และสืบต่อมา จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ราชสำนักไทย สมัยอยุธยาได้สั่งซื้อเข้ามาใช้ และต่อมาได้จัดส่งลายไปสั่งทำด้วย โดยสั่งทำเป็นโถปริก และโถฝาขนาดกลาง เขียนเป็นลายกระหนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนมนรสิงห์ เป็นต้น เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทย มีทั้งที่สั่งทำที่จิงเต๋อเจิ้น และที่ทำจากเตาเผามณฑลฝูเจี้ยน และกวางตุ้ง เมื่อการใช้เครื่องถ้วยชนิดนี้ เป็นที่นิยมในตลาดเมืองไทย เครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่สั่งทำจากจิงเต๋อเจิ้นนั้น มักจะเป็นของใช้ในราชสำนัก เพราะเนื้อดินปั้นละเอียด แกร่ง และบาง ช่างที่ทำมีฝีมือดี และเขียนลายได้ละเอียดสวยงาม

เครื่องถ้วยลายน้ำทอง

            อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่เขียนลาย ด้วยวิธีลงยาเช่นกัน แต่เป็นพวกที่ลงพื้นภาชนะด้วยสีทองที่ทำจากทองคำ เครื่องลายน้ำทองที่ดีๆ ไทยสั่งทำจากจีนเช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายน้ำทองนี้ จีนนิยมมาก ในสมัยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าคังซี (พ.ศ. ๒๒๐๕-๒๒๖๖) และพระเจ้าหย่งเจิ้น (พ.ศ. ๒๒๖๖-๒๒๗๙) ร่วมรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งน่าจะมีการสั่งทำเครื่องถ้วยน้ำทองจากญี่ปุ่นด้วย

            การสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทองจากจีน คงจะได้สั่งทำสืบต่อมา ในสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยมีการปรับปรุง และคิดค้นรูปแบบ และลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าธนบุรีนั้นพบว่า ในราชสำนักญี่ปุ่น ก็ใช้เครื่องถ้วยจากประเทศไทย เรียกว่า "เครื่องถ้วยดนบูริ" ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องถ้วยเบญรงค์ หรือลายน้ำทอง ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเป็นเครื่องบรรณาการ