เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่อง ปั้นดินเผาศรีวิชัยและตามพรลิงค์

            ภาคใต้ของไทย และหมู่เกาะของประเทศ อินโดนีเซียปัจจุบัน แต่เดิมแบ่งเป็นรัฐเล็กๆ ที่แยกเป็นอิสระแก่กัน ต่างก็พยายามมีอำนาจเหนือกัน โดยส่งทูตไปให้จีนรับรองฐานะรัฐของตนกับเพื่อค้าขาย ขณะเดียวกันก็ติดต่อค้าขายกับอินเดีย ตะวันออกกลาง และเลยไปถึงโรมันด้วย ดินแดน แถบนี้มีความเจริญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา และมาเจริญมากจนสามารถรวมเป็น รัฐศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จากนั้นรัฐ ตามพรลิงค์ก็มีอำนาจเหนือคาบสมุทรมลายูในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๘



หม้อดินเผา ศิลปะศรีวิชัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

ลักษณะ เครื่องปั้นดินเผาศรีวิชัย

            เครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองที่พบในภาคใต้ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ กรมศิลปากรได้ขุดค้นแหล่งเตาเผาที่สำคัญ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่บริเวณคลองปะโอ บ้านปะโอ ตำบลม่วงงาม และที่ตำบลวัดขนุน กิ่งอำเภอสิงหนคร จังหวัด สงขลา ซึ่งพบว่ามีแหล่งเตาเผาหลายแห่ง คือ เตา หม้อ ๑ เตาหม้อ ๒ เตาหม้อ ๓ เตาโคกหม้อ และเตาโคกไฟ นอกจากนี้ยังพบเครื่องปั้นดินเผา แบบอื่นๆ ในแถบสทิงพระ แต่ไม่พบเตาเผา อาจ เป็นไปได้ว่าน่าจะใช้วิธีเผากลางแจง ด้วยเป็น ภาชนะเนื้อดินเผาธรรมดาที่ไม่ต้องการความร้อน สูงนัก เครื่องปั้นดินเผาจากบ้านปะโอ มีผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญ คือ คนที (หม้อน้ำ) และหม้อมีเชิง ผลิตภัณฑ์จากเตาเผานี้ได้ส่งไปขายในเมืองสำคัญ ต่างๆ ในภาคใต้ของไทย โดยพบทั้งที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง



คนทีดินเผา ศิลปะศรีวิชัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

            ลักษณะ ของเครื่องปั้นดินเผาศรีวิชัยแบ่งตามลักษณะเนื้อดินปั้นออกเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นภาชนะที่มีเนื้อดินเผาหยาบหนา มีสีแดง สีเทา และสีเหลือง มีการตกแต่งภาชนะด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การปั้นติด การขูดขีด การขุด การกด และการเขียนสี เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้จะเป็นภาชนะที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อ จาน ชาม พาน และคนที ส่วนอีกชนิดหนึ่ง เป็นภาชนะที่มีเนื้อดินปั้นขาวบางละเอียดสวยงาม ที่ พบมากคือ คนที หม้อมีเชิงและหม้อก้นกลม คนทีนั้น รูปกลม คอกว้างสูง ปากมีขอบผายกว้าง พวยยาวตรงเฉียงขึ้น รอบคอส่วนล่างหรือไหล่มีเส้นนูนรอบ เชิงที่ก้นหม้อมีทั้งเชิงเตี้ยและเชิงสูง ที่ปลายเชิงผายกว้างขอบเชิงเป็นเส้นนูน บางใบ คอคอดเล็กสูงขอบปากผายกว้าง ปากพวยคนทีมี ทั้งเรียบและตกแต่งเป็นเหลี่ยม มีเดือยโดยรอบ และบางใบรอบไหล่มีการตกแต่งด้วยเส้นสีแดง ๒-๓ เส้น บางทีมีแถวรอยจุดอยู่ระหว่างแนวเส้นสีแดง ซึ่งภาชนะชนิดนี้นับว่า เป็นเอกลักษณ์พิเศษของเครื่องปั้นดินเผาศรีวิชัย ภาชนะเหล่านี้ พบมากที่บริเวณวัดสวนหลวง (ร้าง) ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ข้างบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช และที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา