เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่องปั้นดินเผาฟูนัน

            วัฒนธรรมของรัฐฟูนันนั้น ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุจีน ครั้งพุทธศตวรรษที่ ๖ แต่เดิมนักวิชาการเชื่อกันว่า ศูนย์กลางน่าจะอยู่ทางแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖-๘ และคำว่า "ฟูนัน" สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากภาษาอินเดียใต้ และภาษาเขมรโบราณว่า "บนัน" หรือ "พนม" ซึ่งแปลว่า ภูเขา และพระนามของกษัตริย์ฟูนันในภาษาสันสกฤตว่า "บรรพตภูบาล" หรือ "ไศลราช" และพระนามนี้ ได้ถูกนำไปใช้เป็นชื่อราชวงศ์ ในรัฐศรีวิชัยว่า "ไศเลนทร์" ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ด้วย

กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมฟูนันได้แผ่อิทธิพลปรากฏอยู่ในเขตประเทศเวียดนามตอนใต้ เมื่อได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ที่เมืองออกแก้ว ยังมีแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแหลมมลายู

            สำหรับลักษณะเครื่องปั้นดินเผาของฟูนันนั้น ไม่มีให้ศึกษาอย่างเด่นชัด แต่จากการที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย ทั้งเชื้อสายของกษัตริย์และประเพณีต่างๆ ดังนั้นรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น น่าจะมีรูปแบบคล้ายกับภาชนะโลหะ ที่ใช้ในราชสำนัก และใช้ในพิธีกรรม ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายกับภาชนะของทางอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นหม้อก้นกลม คอสูง ตะคัน ตะเกียง และพาน ที่มีทั้งแบบเรียบ และตกแต่งตัวภาชนะ ด้วยลายประทับ เป็นรูปฟันปลา หรือเขียนสีแดง ที่ตัวภาชนะ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นแบบของภาชนะดินเผาทวาราวดี สืบต่อมาก็เป็นได้