เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พัฒนาการ ของเครื่องถ้วย

            กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากความจำเป็นของมนุษย์ ที่ต้องการภาชนะใส่อาหาร น้ำ และเครื่องใช้จำเป็นอื่นๆ ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญขึ้น ก็ได้พัฒนาเครื่องถ้วยให้มีรูปแบบ และคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ และนำมาใช้ประโยชน์ ในชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวาง

            การทำภาชนะ หรือเครื่องปั้นดินเผานี้ สันนิษฐานว่าได้มีการผลิตขึ้นมาตั้งแต่ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช โดยพบหลักฐานในดินแดนที่มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองเกือบทุกแห่ง ทั้งในดินแดนอัสซีเรีย อียิปต์ จีน และอินเดีย โดยพบเครื่องถ้วยที่มีเนื้อดินเป็นดินเผาสีแดง แบบเทร์ราคอตตา (terracotta) ที่มีลักษณะเนื้อดินหยาบ ซึมน้ำได้ มีความแข็งแกร่งพอสมควร มีทั้งชนิดเคลือบบางๆ และไม่เคลือบ รวมทั้งมีการตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีน ปรากฏว่าช่างจีนสามารถทำ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบได้ตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ในวัฒนธรรมหลงซาน เมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช เทคนิค การทำเครื่องถ้วยมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่าง มากในสมัยราชวงศ์ฮั่น ประมาณกลางพุทธ- ศตวรรษที่ ๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ อันเป็น ต้นแบบของเครื่องปั้นดินเผาเคลือบในยุคต่อมา จากนั้นได้มีการพัฒนาเรื่อยมา เช่น ชนิดเคลือบ ตะกั่ว (lead glaze) และเคลือบด่าง (alkaline glaze) ซึ่งเป็นเคลือบประเภทที่เผาอุณหภูมิไม่สูงมากนัก ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังประมาณ พ.ศ. ๑๑๖๑- ๑๔๔๙ ปรากฏว่าช่างจีนมีความสามารถทำเคลือบ สีได้หลายสี มีฝีมือดียิ่ง เครื่องถ้วยจีนเจริญ สูงสุดในสมัยราชวงศ์สุ้ง ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๓- ๑๘๒๒ สมัยราชวงศ์หยวน พ.ศ. ๑๘๒๓-๑๙๑๐ และพบว่าในสมัยราชวงศ์หมิง พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๘๗ ช่างสามารถผลิตเนื้อดินเผาแบบพอร์ซเลนหรือ เนื้อกระเบื้องได้แล้ว อันเป็นเครื่องถ้วยเคลือบที่ เผาในอุณหภูมิสูง และเคลือบได้สีต่างๆ มากขึ้น สีที่นิยมจัดเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องถ้วยสมัยราช- วงศ์หมิง นอกจากเครื่องลายครามคือ เครื่องถ้วย ที่เคลือบหลายสีโดยใช้สี ๓ สี คือ แดง น้ำเงิน และเขียว เป็นหลัก กล่าวได้ว่าเครื่องถ้วยจีนเป็น ตัวอย่างที่ดีของเครื่องถ้วยตะวันออก

            ส่วนทางยุโรปมีการทำภาชนะ หรือเครื่องปั้นดินเผามานานแล้วเช่นกัน แต่ที่เริ่มผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบอย่างจริงจังในสมัยเรอเนซองส์ (Renaissance) อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และประเทศแรกที่ให้ความสนใจมากคือ ประเทศอิตาลี เครื่องปั้นดินเผาครั้งนั้นมีเนื้อหยาบและมี ความพรุนตัวสูง คุณภาพไม่ดีนัก เรียกว่า มาจอลิกา (majolica) ซึ่งมีการเคลือบตะกั่ว และมีการตกแต่งลวดลายสวยงาม ต่อมาประเทศฝรั่งเศส ก็ได้มีการทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับของประเทศอิตาลีได้ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และเรียกเนื้อดินปั้นนี้ว่า ฟายองซ์ (faience) อันเป็นระยะเวลาที่อิทธิพลของจีน เกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผา ได้เข้ามาแพร่หลายในยุโรปตามประเทศต่างๆ เช่น สเปน เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ เครื่องถ้วยจีนที่เข้ามาในยุโรปในขณะนั้น ทำให้ประเทศอิตาลี และฝรั่งเศสได้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการ ทำเนื้อดินพอร์ซเลนเลียนแบบจีน ในสมัยแรกๆ ชาวยุโรปไม่รู้จักดินเคโอลิน ได้ใช้ดินแดงทำจึงไม่ ประสบความสำเร็จ แต่ต่อมาชาวอังกฤษสามารถ ค้นพบแหล่งดินขาวแบบเคโอลินได้เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อดินนี้ว่า ไชนาสโตน (china stone) หรือ ไชนาเคลย์ (china clay) โดยนำมาผสมกับหินฟันม้า (หินควอตซ์)


แจกันจีนจากเตาสือโจ้ว สมัยราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ มีรูปแบบและลวดลายที่คล้ายกับแจกันสมัยสุโขทัย

            โจฮันน์ เฟรดริก โบทเจอร์ (Johann Friedrich Bottger) ชาวเยอรมัน เป็นบุคคลแรกที่ได้ศึกษาค้นพบ การทำเครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้อง หรือพอร์ซเลน เป็นผลสำเร็จ และได้ตั้งโรงงานไมส์เซน (Maissen) ขึ้นในประเทศเยอรมนี ใน พ.ศ. ๒๒๕๘ ต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้ตั้งโรงงานแซฟวร์ (Sevres) ขึ้น ใน พ.ศ. ๒๒๙๗ และประเทศอังกฤษ ก็ได้ตั้งโรงงานบริษัทเวดจ์วูด ที่สแตฟฟอร์ดเชียร์ (Wedgwood at Staffordshire) ขึ้นในเวลาต่อมา และได้ค้นพบการทำโบนไชนา (bone china) ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่มีลักษณะบางและโปร่งแสงมาก เป็น ครั้งแรกของโลก ต่อมาความรู้นี้ได้แพร่ไปในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘๔- ๒๒๙๓ ได้มีโรงงานเครื่องปั้นดินเผาขนาดเล็ก เกิดขึ้นกว่า ๑๑๕ แห่ง และบริษัทเจอร์ซีย์พอร์ซเลน (Jersey Porcelain) และบริษัทเอิร์ทเทนแวร์ (Earthenware Company) สามารถผลิตเครื่องกระเบื้องเนื้อพอร์ซเลนได้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๖๙


แจกันจีนจากเตาสือโจ้ว สมัยราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ มีรูปแบบและลวดลายที่คล้ายกับแจกันสมัยสุโขทัย

พัฒนาการ เครื่องถ้วยในประเทศไทย

            สังคมของมนุษย์ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานบนผืนแผ่นดินไทยนั้น พบว่ามิใช่มีอายุเก่าแก่เพียงสมัยสุโขทัย สมัยล้านนา และสมัยอยุธยาเท่านั้น แต่หลักฐานของมนุษย์ในแผ่นดินไทย กลับมีอายุนับย้อนขึ้นไปกว่าห้าหมื่นปี ซึ่งนับว่า เป็นระยะเวลาอันยาวนานพอ ที่จะสั่งสม และสร้างสรรค์อารยธรรมสังคมเมืองขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์แห่งตนได้อย่างสง่างาม และสมควรแก่ความภาคภูมิใจแก่ชนทั้งหลาย ที่ได้อาศัยกำเนิด และดำรงชีวิตดังเฉกเช่นปัจจุบัน