เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ไหเคลือบสีเขียวอ่อน จากเตาล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑

            อาณาจักรล้านนา มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านการเมือง และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ตั้งแต่สมัยพ่อขุนมังรายแห่งเมืองนครเงินยางเชียงแสน เสด็จลงมาปราบปรามแคว้นหริภุญไชยได้ และทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาตลอดมา ล้านนาเริ่มเสื่อมอำนาจลงใน พ.ศ. ๒๐๖๙ และตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้า บุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงยึดเมืองเชียงใหม่ เข้ารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๗ เป็นต้นมา

            เครื่องถ้วยล้านนา มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนมากมักทำด้วยเนื้อดินละเอียดและบาง ไม่หนัก และเทอะทะ อย่างเครื่องสังคโลก แต่น้ำเคลือบนั้น ส่วนใหญ่แล้ว สวยงามสู้เคลือบสังคโลกไม่ได้ แม้ว่าบางเตา เช่น เตากาหลง และเตาที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จะทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีเขียวแบบเซลาดอนได้สวยงาม ไม่แพ้เครื่องสังคโลกก็ตาม ลักษณะเตาเผาในเขตภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเตากูบ ก่อด้วยดินแล้วเผาให้แข็งตัว ลักษณะรูปร่าง และการแบ่งสัดส่วนของเตา คล้ายกับเตาสมัยสุโขทัย คือ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหน้าเป็นที่ใส่เชื้อเพลิง ตอนกลางเป็นที่ตั้งผลิตภัณฑ์เข้าเผา และส่วนท้ายเป็นปล่องไฟ ระบายความร้อน ผลิตภัณฑ์แต่ละแหล่งคล้ายกัน มาก จะแตกต่างเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อย เท่านั้น แหล่งเตาเผาที่สำคัญคือ

เตาเวียงท่ากาน

            ตั้งอยู่ที่เวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นคนโท และคนที เนื้อดินปั้นแบบกึ่งสโตนแวร์ เนื้อบางละเอียดไม่เคลือบ ตกแต่งลวดลาย ด้วยการทาน้ำดินหรือสลิป สีแดง แล้วเขียนลวดลายด้วยสีขาว ที่บริเวณรอบตัวและไห เป็นลายแนววงกลมซ้อน และลายดอกไม้ก้านขด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากเตาเวียงท่ากาน น่าจะมีการพัฒนาการก่อนเตาอื่นๆ และอาจจะผลิตกันมา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ แล้ว จากการที่พบผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเผานี้เป็นจำนวนมาก ที่เมืองหริภุญไชย จึงเรียกชื่อภาชนะเหล่านี้ว่า เครื่องถ้วยหริภุญไชย

เตาสันกำแพง

            ตั้งอยู่ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะผลิตภัณฑ์มีเนื้อดินปั้น สีเทาอมแดงและหยาบ เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีขาวนวล มีสีเขียวอ่อน และน้ำตาล มักจะมีลักษณะเคลือบขุ่น โดยทั่วไปตกแต่งด้วยลายเขียนใต้เคลือบสีดำ ลายที่นิยมมากที่สุดเป็นลายปลาคู่ซึ่ง ว่ายน้ำตามกันภายในวงกลม ซึ่งลักษณะลายปลา แบบนี้จีนเรียกว่า "หยิน-หยาง" แต่ที่น่าสนใจ คือ ลายปลาคู่ ประทับลงในเนื้อดินปั้น ลักษณะของจานปลานี้ คล้ายกับเครื่องถ้วยจีนมาก ส่วนลวดลายอื่นๆ ก็มี เช่น ลายวงกลมซ้อนกัน ลายรูปสัตว์ในวงกลม และลายดอกไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต มาก ได้แก่ จาน ชาม ขวด ตะคัน ไห กระปุก และคนที เป็นต้น

เตาสันทราย

            ตั้งอยู่ที่บ้านสันทราย อำเภอ เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเคลือบสีน้ำตาล ปรากฏรอยน้ำเคลือบสีน้ำตาลเข้ม ไหลเยิ้มลงเป็นทางตลอดใบ แต่มีภาชนะที่เคลือบ ๒ สีด้วย เช่น ไห ซึ่งตัวไหเคลือบสีน้ำตาล ส่วนคอถึงปากเคลือบสีเขียว

เตาบ้านโปงแดง หรือเตาพาน

            ตั้งอยู่ที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ลักษณะผลิตภัณฑ์มีเนื้อดินปั้นบางละเอียด ฝีมือประณีต เคลือบใส มีสีขาวนวล สีน้ำตาลอ่อน สีเขียวอ่อน การตกแต่งมีทั้งเคลือบสีเดียว และเขียนลายใต้เคลือบ ด้วยสีดำ หรือตกแต่งด้วยลายขูดขีดใต้เคลือบเป็นลายดอกไม้ และลายวงกลมซ้อน

เตาวังเหนือ

            ตั้งอยู่ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เตาในบริเวณนี้ ตั้งอยู่กระจัดกระจายไปหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะที่ทุ่งฮั้ว จึงเรียกเครื่องถ้วยจากที่นี้อีกชื่อหนึ่งว่า "เครื่องถ้วยเตาทุ่งฮั้ว" ลักษณะผลิตภัณฑ์ส่วนมาก มีเนื้อดินปั้นบางและละเอียดมาก ฝีมือประณีตกว่าที่อื่นๆ ในภาคเดียวกัน เคลือบด้วยน้ำเคลือบที่บางมาก เป็นสีขาวนวล หรือสีเขียวใส และมักไม่ประดับ ลวดลายใดๆ ผลิตภัณฑ์ที่พบ เช่น กระปุกเล็กๆ จาน ชาม ถ้วย ขวด เป็นต้น

เตาเวียงกาหลง

            ตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงกาหลง จังหวัดลำปาง ใกล้ฝั่งแม่น้ำลาว ลักษณะผลิตภัณฑ์ มีเนื้อดินปั้นขาวบาง และละเอียด ตกแต่งด้วยการเคลือบใสสีเขียวอ่อนปนเทา เขียนลายใต้เคลือบสีดำ ลายที่นิยมมากเป็นลายหวัดๆ คล้ายลายนกหรืออีกา กำลังบิน นอกจากนั้นก็มีลายดอกไม้ และลายก้านขดด้วย

เตาพะเยา

            ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ลักษณะผลิตภัณฑ์มีเนื้อดินปั้นสีนวล น้ำเคลือบสีน้ำตาลทอง ใต้ก้น และรอยขอบปาก ไม่เคลือบ ทั้งนี้เพราะเกี่ยวกับการวางซ้อนในเวลาเข้าเตาเผา

เตาบ่อสวก

            ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อสวก จังหวัดน่าน ลักษณะผลิตภัณฑ์มีเนื้อดินปั้นแกร่งสีน้ำตาล น้ำเคลือบสีน้ำตาลปนเขียว เคลือบบาง

เตาขุนยวม

            ตั้งอยู่ที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลิตภัณฑ์มีเนื้อดินปั้นสีเทา น้ำเคลือบสีน้ำตาล เคลือบบาง