เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


หม้อดินเผา ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖

เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชย

เมืองหริภุญไชยหรือลัมภูญนคร ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า พระฤาษีวาสุเทพ และพระฤาษีสุกกทันตะ เป็นผู้สร้าง เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๐ และมีพระนางจามเทวีทรงเป็นกษัตรีองค์แรก

            รูปแบบ และลวดลายของเศษเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในวงการโบราณคดี เรียกว่า "เครื่องถ้วยหริภุญไชย" ซึ่งการกำหนดอายุของนักวิชาการยังไม่เป็นมติเดียวกัน บางท่านกำหนดว่า มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๙ โดยให้เหตุผลว่า รูปแบบของศิลปกรรมที่เก่าที่สุด เป็น อิทธิพลศิลปะอินเดียราชวงศ์ปาละ และเมืองหริภุญไชยหมดความเป็นเอกราช เมื่อพระเจ้ามังราย จากนครเงินยางเชียงแสนมาตีได้ ใน พ.ศ. ๑๘๓๖ ก่อนที่จะเสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ ส่วนนักวิชาการบางท่าน ได้กำหนดอายุของศิลปะหริภุญไชยเก่าขึ้นไปอีกว่า น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙ เพราะจากพงศาวดาร เมืองหริภุญไชย ชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ ได้บันทึกถึงศักราชของการสร้างเมือง ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อตรวจสอบแล้ว น่าที่จะอยู่ในช่วงดังกล่าว

            สำหรับผู้เขียนเข้าใจว่า การกำหนดอายุศิลปะหริภุญไชย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙ น่าจะถูกต้อง เพราะจากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมยุคแรกๆ ที่พบในเมืองหริภุญไชยนี้ จะเป็นประติมากรรมที่แสดงอิทธิพลของศิลปะอินเดีย ราชวงศ์คุปตะ และศิลปะทวารวดีจากภาคกลาง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นศิลปะทวารวดีจากเมืองละโว้หรือ ลวปุระ ที่นิยมอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ และรับศิลปะอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ก่อนที่เมืองละโว้จะรับรูปแบบศิลปะขอมตาม ความนิยมในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานแบบ วัชรยานในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘

การศึกษารูปแบบของเครื่องถ้วยหริภุญไชย ได้พบว่า สามารถแบ่งรูปแบบได้ ๒ รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ ๑

            เป็นเครื่องถ้วย หรือเครื่องปั้นดินเผา ที่มีรูปแบบเรียบๆ และตกแต่งด้วยการเขียนเส้นสีแดง ที่รอบคอและไหล่ของภาชนะ เช่น หม้อ พาน ตะคัน เป็นต้น ซึ่งลักษณะของภาชนะ และการตกแต่งด้วยเส้นสีแดงนี้ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องปั้นดินเผาทวารวดีของภาคกลาง

รูปแบบที่ ๒

            เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีการตกแต่งมากขึ้น ทั้งลักษณะของตัวภาชนะเอง และการประดับลวดลาย เช่น หม้ออัฐิ ตัวหม้อจะมี การตกแต่ง เช่น มีขอบหลายชั้น ตัวหม้อแบ่งเป็นตอนๆ โดยใช้แนวเส้นคอด หรือสันของหม้อเป็นเส้นแบ่ง ฝาหม้อก็มีลักษณะเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไป จนถึงยอดซึ่งเป็นรูปคล้ายดอกบัว ส่วนลวดลาย ที่ประดับรอบไหล่และคอของภาชนะมีทั้งลายขุด และลายกดประทับ ลักษณะของหม้ออัฐิและ ภาชนะบางอย่างในแบบที่ ๒ นี้ มีลักษณะคล้าย กับเครื่องปั้นดินเผาที่พบที่เมืองเบกทาโน ในรัฐ ศรีเกษตรโบราณของพม่ามาก

            อย่างไรก็ดี เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชยนี้ ได้มีการพัฒนาเป็นลักษณะของตนเองด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากรูปแบบของหม้อน้ำที่มีรูปกลม เชิงกว้าง หรือรูปแบบของคนโท ซึ่งมีรูปกลมคอเรียวสูง และตกแต่งด้วยการเขียนสีแดง ทั้งเป็นเส้นธรรมดาที่ส่วนคอ ไหล่ และตัวคนโท และบางใบก็เขียนเป็นลวดลาย ที่ตัวคนโทอย่างสวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่า คนโทนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปะหริภุญไชย และน่าจะเป็นแบบอย่างให้กับคนโท หรือน้ำต้นของเมืองเชียงใหม่ใน สมัยต่อมาด้วย การใช้แม่พิมพ์ก็มีการทำเช่นกัน โดยเฉพาะกับการสร้างสรรค์งานปั้น เช่น การ ทำพระพุทธรูปดินเผาอันลือชื่อว่าเป็นยอดแห่ง ความงามของสิ่งที่ทำจากดิน และยังพบเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำด้วยแม่พิมพ์ คือ แวเหล็กใน ที่ใช้ในการกรอด้าย รวมถึงแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระพิมพ์ด้วย

            ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นด้วยกับการกำหนดอายุของเมืองหริภุญไชย ในสมัยพระนางจามเทวีปฐมกษัตรี ผู้ซึ่งทรงเป็นพระราชธิดาของ พระเจ้ากรุงละโว้ (ลวปุระ) และทรงเป็นพระมเหสี แห่งเจ้าเมืองราม การกำหนดอายุศิลปกรรมหริภุญไชย ตั้งแต่เริ่มแรก จนสิ้นเอกราชว่า น่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙